NEWS

ข่าววาฬในไทย - Local

ผงะ! พบซาก “วาฬโอมูระ” หายากหนักเกือบ 1 พัน กก. ถูกคลื่นซัดเกยหาดที่ระโนด

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อึ้ง พบซาก “วาฬโอมูระ” หายาก หนักเกือบ 1,000 กก. ถูกคลื่นซัดเกยตื้นบริเวณชายหาดใน ต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา เผยเป็นตัวที่ 2 แล้วหลังเพิ่งพบถูกคลื่นซัดขึ้นมาตัวแรกที่ชายหาดแหลมสมิหลา วานนี้

วันนี้ (17 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบซากวาฬถูกคลื่นซัดลอยมาเกยตื้นตาย บริเวณชายหาดพื้นที่หมู่ 3 ต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา สภาพเริ่มเน่าเปื่อย โดยมี นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ลงพื้นที่ไปตรวจสอบซากวาฬตัวนี้

เบื้องต้น พบว่าเป็น “วาฬโอมูระ” อายุประมาณ 1 ปี ความยาวเกือบ 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ซากหาสาเหตุของการตาย ทั้งสภาพร่องรอยภายนอกว่ามีแผลหรือไม่ รวมทั้งจะนำไปผ่าพิสูจน์ภายในว่าป่วยตาย หรือพบลักษณะผิดปกติอะไรหรือไม่ โดยคาดว่า วาฬโอมูระตัวนี้น่าจะถูกคลื่นซัดตายระหว่างเกิดพายุโซนร้อนพัดถล่มอ่าวไทย เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เปิดเผยว่า สำหรับวาฬโอมูระตัวนี้ เป็นตัวที่ 2 ที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยตื้นบริเวณชายหาด โดยเมื่อวานนี้เพิ่งพบไป 1 ตัว ที่บริเวณชายหาดชลาทัศน์ แหลมสมิหลา ซึ่งขนาดใกล้เคียงกัน

สำหรับวาฬโอมูระ (อังกฤษ : Omura's whale) เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า ถูกค้นพบครั้งแรกจากซากของมันในปี ค.ศ.2003 และเมื่อพิจารณาจากซากแล้วจึงพบว่า มีความต่างจากวาฬบรูด้า คือ วาฬโอมูระนั้นมีขนาดเล็กกว่า ตัวผู้ที่โตเต็มวัยยาวเพียง 10 เมตร ตัวเมียยาวเพียง 11.5 เมตร รอยจีบใต้ลำคอมีจำนวนมากกว่า คือ 80-90 รอยจีบ มีครีบหลังที่สูงกว่า และมีความโค้งน้อยกว่าของวาฬบรูด้า

วาฬโอมูระนั้นเป็นวาฬในวงศ์วาฬแกลบที่หายาก และมีผู้คนรู้จักน้อย ชื่อของมันนั้นตั้งตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชาวญี่ปุ่น นามว่า “ฮิเดโอะ โอมูระ” ซึ่งเป็นผู้ค้นพบวาฬโอมูระ ในปี พ.ศ.2546

"ทช. ประกาศเลิกใช้โฟม ลดใช้ถุงพลาสติกในทุกกิจกรรม"

เนื่องในวันทะเลโลก วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่จะมาถึงนี้ กรม ทช.โดยอธิบดีจตุพร บุรุษพัฒน์ ประกาศนโยบายเลิกใช้โฟม ลดใช้ถุงพลาสติก (ถุงก๊อบแก๊บ) เข้ามาในพื้นที่ กรมฯ ทช. ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อร่วมแสดงพลังกับพี่น้องประชาชนในการลดการสร้างขยะสู่ทะเล โดยเฉพาะภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Refuse single use plastics) โดยให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป

เปิดใจทีมสัตวแพทย์ ยื้อชีวิตวาฬนำร่อง กินถุงพลาสติก 85 ชิ้น

"มีช่วงหนึ่งที่วาฬเกร็งตัว สำรอกเอาพลาสติกออกมา ตอนนั้นไม่มีใครเห็นว่าออกจากปากวาฬหรือเปล่า เพราะอยู่ในทะเลไม่รู้ว่ามาจากข้างนอกหรือไม่ แต่สังเกตแล้วว่ามีความเป็นไปได้ว่ามาจากวาฬ" สัตวแพทย์หญิงวัชรา ศากรวิมล สัตวแพทย์ปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่รักษาวาฬนำร่องครีบสั้น กล่าวกับบีบีซีไทย ถึงเหตุการณ์ในช่วงเช้าของวันที่ 1 มิ.ย.

ซากวาฬนำร่องครีบสั้นที่ตายที่ อ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมกับภาพซากถุงพลาสติกที่อยู่ในท้องวาฬ 85 ชิ้น ด้วยหนัก 8 กิโลกรัม ในกระเพาะอาหาร อาจบอกถึงปัญหาขยะในท้องทะเลไทยที่เข้าขั้นวิกฤต

  • มลพิษพลาสติก: รวมภาพปัญหาขยะพลาสติกจากทั่วทุกมุมโลก
  • ผลสำรวจชี้ 1 ใน 3 ของแนวปะการัง 'มีพลาสติกติดอยู่'
  • ขยะพลาสติก: มลพิษคุกคามท้องทะเลอินโดนีเซีย

  • วันที่ 28 พ.ค. ชาวบ้านคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา พบวาฬนำร่องครีบสั้นลอยเข้ามาในคลองด้วยอาการอ่อนแรง ไม่สามารถดำน้ำได้ จึงได้แจ้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา เข้ารักษา

    สัตวแพทย์หญิงวัชรา เล่าถึงการรักษาของทีมสัตวแพทย์ ที่ร่วมกับศูนย์วิจัย ทช. สงขลา และทีมจิตอาสา ThaiWhales ว่า วาฬที่พบอยู่ในช่วงวัยรุ่นถึงโตเต็มวัย มีลักษณะผอม ซึ่งเกิดจากการไม่ได้กินอาหาร มีอาการขาดน้ำร่วม จึงให้น้ำร่วมกับยาปฏิชีวนะ และยาถ่ายพยาธิ แม้จะมีอาการดีขึ้นในวันที่ 1 แต่ต่อมาในช่วงบ่ายวาฬตัวนี้ มีอาการเกร็งตัว และสำรอกพลาสติกออกมาสี่ชิ้น ก่อนเริ่มมีอาการช็อค ทีมแพทย์จึงได้ช่วยกู้ชีพด้วยการสอดท่อหายใจ ในขณะนั้นเองทีมแพทย์พบว่าบริเวณหลอดอาหารของวาฬมีขยะอยู่ "เวลาวาฬส่วนใหญ่ ถ้าป่วย ล่าไม่ได้เขาจะหาอาหารลำบาก เพราะพวกนี้อยู่เป็นฝูง ถ้าโดนแยกออกมา การล่าอาหารก็ยากขึ้นก็อาจจะกินพวกสิ่งที่มันลอยน้ำมา ด้วยความเข้าใจผิดหรือว่าร่างกายบังคับให้กินแล้วเพราะว่าขาดสารอาหาร"

    ทีมสัตวแพทย์ช่วยชีวิตวาฬนำร่องตัวนี้อยู่ราวหนึ่งชั่วโมงด้วยการสอดท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจ ยากันชัก ก่อนที่วาฬจะเสียชีวิต "ถ้าช่วงกู้ชีพ ปอดเค้าไม่ค่อยดีอยู่แล้ว โอกาสก็ค่อนข้างน้อย ร่วมกับมันกินขยะด้วย เพราะว่าขยะชิ้นแรกออกมาไม่ได้ดูสกปรกมาก แต่พอชิ้นหลัง ๆ สำรอกออกมาเพิ่มค่อนข้างสกปรก หมายความว่ามันอาจจะกินมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว" ขยะ 8 กิโลกรัม ในท้องวาฬ หลังจากนั้นวาฬเสียชีวิต ทีมแพทย์ได้ผ่าชันสูตรซากวาฬ พบความผิดปกติในระบบต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด พบพยาธิในปอด ท่อน้ำดีและลำไส้ และพบขยะจำพวกพลาสติกในส่วนต้นของกระเพาะอาหารจำนวน 8 กิโลกรัม นับได้จำนวน 85 ชิ้น

    "อาการป่วยบ่งบอกว่าเป็นอาการเรื้อรัง พอเปิดตรงกระเพาะก็เจอขยะอย่างที่เห็นในรูป ตรงกระเพาะอาหารเองมีแผลหลุม มีเลือดออกในกระเพาะ เหมือนคนที่เป็นโรคกระเพาะแล้วมีเลือดออก ถุงดำๆ นั่นไม่ใช่ถุงดำ แต่เป็นคราบเลือดที่โดนกรดไปเคลือบที่ถุงพลาสติก แสดงว่าวาฬเลือดออกค่อนข้างมากในทางเดินอาหาร ซึ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะเลือดจางตามมา การกินพลาสติก ยิ่งไปกระตุ้นให้มันแย่ลง" สัตวแพทย์หญิงวัชรา กล่าว "เราพบว่ามีพลาสติกบางส่วนที่มันย่อย ดูผุ ๆ พัง ๆ แต่ด้วยความที่กรดค่อนข้างสูงก็อาจจะทำให้เกิดการย่อย แต่เท่าที่ดูน่าจะเกินหนึ่งอาทิตย์" นาทีที่กรีดมีดลงที่อวัยวะภายในของวาฬ เธอบอกว่า "รู้สึกอึ้งและช็อค" กับปริมาณขยะ 8 กก. ในท้องวาฬ เนื่องจากจากประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายากมา 5 ปี ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เคยมีกรณีวาฬน้ำลึกที่กินขยะเข้าไป ครั้งนั้นมีน้ำหนัก 1-2 กิโลกรัม ครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเจอมา

    พบซากปลาวาฬหนักกว่า 1 ตัน ลอยตายอยู่หน้าสะพานบ้านแหลม ต.เกาะสุกร

    ตรัง - พบซากปลาวาฬหนักกว่า 1 ตัน ลอยตายอยู่หน้าสะพานบ้านแหลม ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง โดยที่ลำตัวด้านหลัง มีรอยแผลคล้ายกับโดนของมีคม และยังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แท้จริง

    เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ได้รับแจ้งจาก นายปราโมทย์ มีลือ และชาวประมงที่ออกจับสัตว์น้ำว่า พบซากปลาวาฬ ไม่ทราบชนิด ลอยตายอยู่ที่บริเวณหน้าสะพานบ้านแหลม หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะสุกร จึงช่วยกันลากขึ้นฝั่ง

    ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ปลาวาฬตัวนี้เป็นเพศผู้ มีน้ำหนักประมาณ 1,500 กก. หรือ 1 ตันครึ่ง และยาวประมาณ 6-7 เมตร โดยที่บริเวณลำตัวด้านหลัง มีรอยแผลคล้ายกับโดนของมีคม จึงประสานแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์เพื่อให้มาตรวจพิสูจน์ซากปลาวาฬ และหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป

    พบโลมาหลังโหนก ผสมพันธุ์หน้าหาดบานชื่น จ.ตราด ชี้ธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุด

    ประธานเครือข่ายสัตว์ทะเลหายาก เผยพบโลมาหลังโหนก 3 ตัว ผสมพันธุ์หน้าหาดบานชื่น จ.ตราด ชี้มาจากภาวะธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

    วันนี้ ( 21 ม.ค.) นายกฤตภาส ศรีแสงขจร ประธานเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าได้รับแจ้งจาก ครูวนิดา พิมพ์บุญมา หรือครูดำ ว่าพบโลมาหลังโหนก จำนวน 3ตัว ว่ายวนเวียนอยู่ข้างเรือประมง ขณะกำลังนำเรืออกเก็บอวนที่วางไว้ ที่บริเวณหน้าหาดบานชื่น เมื่อเวลา 18.00 น.วานนี้ โดยโลมา มีลักษณะคล้ายได้รับบาดเจ็บ จึงถ่ายคลิปไว้เพื่อนำมาวิเคราะห์ ก่อนโพสต์ภาพลงในโลกสังคมออนไลน์ เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ได้รับทราบ

    นายกฤตภาส เผยว่าจากการสอบถาม ครูวนิดา ถึงพฤติกรรมของโลมา ควบคู่ไปกับการตรวจสอบภาพถ่ายอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการเจ็บป่วยก็พบว่า ลักษณะการว่ายของโลมา น่าจะเป็นลักษณะของการผสมพันธุ์กันมากกว่า

    “ ลักษณะของโลมาหลังโหนก 3 ตัว เมื่อดูจากคลิปจะเห็นว่าว่ายอยู่ข้างๆเรือ ซึ่งเมื่อดูจากพฤติกรรมแล้วเชื่อว่า น่าจะเป็นการผสมพันธุ์ เนื่องจากโลมา เมื่อเวลาผสมพันธุ์จะไม่ได้อยู่แค่ 2ตัว แต่จะมีตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ที่สำคัญยังเป็นการชี้ชัดได้ว่าท้องทะเลใน จ.ตราด มีความอุดมสมบูรณ์ ” นายกฤตภาส กล่าว

    พบซากวาฬกลางแปลงหอย จ.สมุทรสงคราม

    ทีมศวทบ. สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และทีม ThaiWhales เริ่มภารกิจแรกของวันปีใหม่ด้วยการไปลากซากจากแปลงหอยไปขึ้นที่ต.บางแก้ว จ.สมุทรสงคราม เพื่อผ่าชันสูตรซาก เบื้องต้นคาดกันว่าน่าจะเป็นลูกวาฬบรูด้าตัวนี้เป็นเพศเมีย อายุประมาณ 4-6 เดือน ความยาว 5.35 เมตร คาดว่าเสียชีวิตมาไม่ต่ำกว่า 7 วัน สภาพภายนอกอืดบวม ด้านซ้ายของลำตัวพบการไหม้ของผิวหนังเนื่องจากแสงแดด ส่วนของลิ้นพบ tongue fold (ลักษณะที่ปรากฏในลูกวาฬ) พบลักษณะรอยคั่งเลือดและบวมน้ำบริเวณด้านขวาตลอดความยาวลำตัว อวัยวะภายใน เน่าแล้ว จึงไม่สามารถใช้ตรวจสอบรอยโรคได้ ไม่พบร่องรอยโรคที่บ่งชี้สาเหตุการตาย จึงไม่สามารถสรุปการตายได้ ที่น่าสังเกตคือ พบหอยแมลงภู่จำนวน 7 ตัวบริเวณคอหอย และ 1 ตัวบริเวณหลอดลมส่วนต้น กล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจปกติ กระเพาะอาหารไม่พบอาหาร ในลำไส้ยังมีคราบนมอยู่

    • Clip VDO
    • Clip VDO

    ตื่นตา! พบ “วาฬเพชฌฆาต” กลางน่านน้ำอันดามัน

    วานนี้ (8 ต.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี Phairot Kong โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 02.04 นาที ลงในกลุ่มสยามเอ็นสิส (Siamensis.org) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นภาพวาฬเพชฌฆาต หรือ วาฬออก้า ที่ทะเล จ.ภูเก็ต เมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ที่ผ่านมา “เรือที่ลงบอกว่า วิ่งจากนางย่อนไปภูเก็ต” Phairot Kong ระบุ สำหรับคลิปดังกล่าวมีผู้คลิปไลก์เกือบ 2 พันไลก์ และแชร์ต่อไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อบัญชี Yanapon Chaiwootti หรือ ญาณพล ไชยวุฒิ มัคคุเทศก์ทางทะเลผู้มีประสบการณ์ทางทะเลยาวนาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วาฬเพชฌฆาต หรือ Orca หรือ Killer Whale ในน่านน้ำไทย โดยนั้นไม่ได้มีการพบเป็นครั้งแรก แต่มีหลายครั้งแล้ว โดยจากรายงานการพบวาฬเพชฌฆาตในประเทศไทยที่จัดทำโดย ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล และ นายสัตวแพทย์ สนทยา มานะวัฒนา ระบุว่า มีการพบเห็นเรื่อยมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในปี 2536 ทั้งในปี 2538 ยังมีการพบวาฬเพชฌฆาตมาเกยหายและตาย ณ อ่าวเกือก เกาะสิมิลัน โดยทางอุทยานได้ทำการเก็บโครงกระดูกวาฬเอาไว้ด้วย “ในปี 2559 เราได้ต้อนรับวาฬเพชฌฆาตอีกครั้งบริเวณอ่าว FREEDOM ใกล้กับหาดป่าตอง และพบอีกครั้งแถบหาดกะรน โดยที่เขาได้วนเวียนอยู่เพียง 1-2 วัน จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบอีกเลย แต่มีรายงานล่าสุด ว่า พบวาฬเพชฌฆาตอีกเมื่อวันที่ 28 มกราคม บริเวณเกาะบอน ... การพบวาฬเพชฌฆาตบริเวณอ่าว FREEDOM จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นการพบการพบใกล้แผ่นดินใหญ่ที่สุด สื่อหลายแขนงได้ลงข่าวเรื่องนี้ ที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวหลายท่านได้ตามออกไปดู ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพของวาฬ” Yanapon Chaiwootti ระบุ

    สำหรับ “ออร์กา” (Orca) หรือ “วาฬเพชฌฆาต” (Killer whales) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์โลมา (Delphinidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออคินัส ออกา (Orcinus orca) วาฬเพชฌฆาตอาศัยอยู่ในมหาสมุทรได้ทั่วโลก ตั้งแต่อาร์กติกเรื่อยไปจนถึงแอนตาร์กติก รวมทั้งในทะเลแถบเขตร้อน นักวิทยาศาสตร์จำแนกวาฬเพชฌฆาตออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ - สายพันธุ์ทั่วไป (Resident) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่รวมกันเป็นครอบครัวอย่างเหนียวแน่น - สายพันธุ์อพยพ (Transient) มักเดินทางไปทั่วตามชายฝั่งทะเล รวมกลุ่มกันเล็กๆ ราว 2 - 6 ตัว แต่ไม่เป็นครอบครัวเหนียวแน่นและมีพฤติกรรมไม่ซับซ้อนเท่าสายพันธุ์ทั่วไป - สายพันธุ์ทะเลลึก (Offshore) นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบวาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์นี้เมื่อปี 1988 ซึ่งมีพันธุกรรมแยกออกจาก 2 สายพันธุ์ข้างต้นอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลเปิด มักรวมตัวกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ประมาณ 60 ตัว แต่พฤติกรรมอื่นๆ ยังมีข้อมูลน้อยมาก ลักษณะเด่นของวาฬเพชฌฆาต คือ มีสีดำบริเวณส่วนหลัง และมีส่วนอกและท้องเป็นสีขาว รวมทั้งบางส่วนของด้านข้างลำตัวและด้านหลังดวงตาที่มีสีขาวเช่นกัน ลำตัวขนาดใหญ่และแข็งแรงมาก มีครีบหลังขนาดใหญ่คล้ายรูปสามเหลี่ยมมสูงถึง 2 เมตร โดยทั่วไปวาฬเพชฌฆาตตัวผู้จะมีความยาว 6 - 8 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 6 - 7 ตัน ส่วนตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าไม่มาก แต่วาฬเพชฌฆาตบางตัวอาจมีความยาวได้สูงสุดเกือบ 10 เมตร และหนักถึง 10 ตัน ซึ่งวาฬเพชฌฆาตสามารถว่ายน้ำได้เร็วกว่า 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์สังคมที่มีพฤติกรรมซับซ้อน มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง หากมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ วาฬเพชฌฆาตเพศเมียจะมีอายุยืนเฉลี่ย 50 - 60 ปี หรืออาจยืนยาวถึง 90 ปี ขณะที่วาฬเพชฌฆาตเพศผู้จะมีอายุเฉลี่ยที่ 29 ปี และอายุยืนสูงสุดได้ถึง 60 ปี แต่หากเป็นวาฬเพชฌฆาตที่ถูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์น้ำ จะมีช่วงอายุสั้นกว่าพวกเดียวกันที่อยู่ในธรรมชาติอย่างมาก บางตัวอาจอยู่ได้ไม่เกิน 25 ปีก็มี เหตุที่ได้ชื่อว่า “วาฬเพชฌฆาต” เพราะวาฬชนิดนี้กินสัตว์ทะเลอื่นๆ เป็นอาหาร รวมทั้งฉลาม โลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล เพนกวิน หรือแม้แต่วาฬต่างสปีชีส์ที่มีขนาดใหญ่กว่า จึงได้ชื่อว่าเป็นวาฬชนิดที่ดุร้ายที่สุดในโลก ซึ่งเทคนิคการล่าเหยื่อของวาฬเพชฌฆาตมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเหยื่อผู้โชคร้าย แต่โดยทั่วไปวาฬเพชฌฆาตในธรรมชาติจะไม่ทำร้ายมนุษย์ เว้นแต่กรณีของวาฬเพชฌฆาตที่ถูกนำมากักขังและเลี้ยงไว้ตามสวนสัตว์น้ำต่างๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

    ซากวาฬหัวทุยเกยตื้นภูเก็ต

    ซากวาฬหัวทุย (SPERM WHALE) ถูกพบเห็นล่องลอยบริเวณทะเลจังหวัดภูเก็ตมาระยะหนึ่ง จนกระทั่งขึ้นมาเกยหาดที่ หาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต

    ทีม Phuket Life Guard หาดสุรินทร์ต้องการเก็บรักษาซากเพื่อนำส่งเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ทางการเรียนรู้ จึงได้ทำการกันพื้นที่เพื่อไม่ให้ใครมายุ่งเกี่ยว หรือเก็บเอา " ฟัน " ซึ่งถือเป็นเครื่องรางจากทะเลที่หลายๆ คนใฝ่หามาครอบครอง อีกทั้งประสานกับศูนย์ชีววิทยาทางทะเล จ.ภูเก็ต ส่งทีมมาเพื่อเก็บชิ้นส่วน พร้อมชันสูตรการตายของเจ้าวาฬหัวทุย

    ต่อมาเจ้าหน้าที่จากกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์ชีววิทยาทางทะเล จ.ภูเก็ต พร้อมนักศึกษาฝึกงานดำเนินการเก็บชิ้นส่วนของซาก อันได้แก่ เนื้อเยื่อ กราม ฟัน พร้อมทั้งหาสาเหตุการตาย แต่เนื่องจากซากเน่ามากประกอบกับไม่สามาถค้นหาอวัยวะภายในใด จึงไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด ทำได้แค่เพียงเก็บเนื้อเยื่อจากอวัยวะต่าง ๆ พร้อมทั้งฟันและกรามกลับไปยังหน่วย ซึ่งจากสภาพฟันที่เก็บได้ นับว่าเก็บได้เกือบครบทุกซี่ ส่วนซากค่อนข้างสมบูรณ์มาก แต่เนื่องจากเนื้อเน่าแล้วจึงจำต้องฝังกลบ

    ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โผล่เล่นน้ำเกาะสิมิลัน

    นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างไปลงเรือที่บ้านทับละมุ อ.คุระบุรี เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวเกาะสิมิลัน

    และหวังว่าจะได้ชมฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ หลังจากมีฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำในบริเวณเกาะสิลิลัน นายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น ผู้จัดการเรือนำเที่ยว บ.ว้าว อันดามัน เล่าว่าขณะที่นำเรือนักท่องเที่ยวผ่านเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ใกล้กับกองหิน ปูซาร์ พบฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ กว่า 30 ตัว ว่ายน้ำอยู่กลางทะเล พนักงานของเรือและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ต่างตื่นเต้นนำเอาโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพนิ่ง และบันทึกวีดีโอไว้ เพราะตั้งแต่เดินเรือท่องเที่ยวมาก็ไม่เคยพบฝูงวาฬจำนวนมากเท่านี้มาก่อน ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในชีวิต

    นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต กล่าวว่าวาฬเพชฌฆาตแปลง หรือ วาฬเพชฌฆาตเทียม หรือวาฬเพชฌฆาตดำ หรือ โลมาเพชฌฆาตแปลง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์โลมามหาสมุทร เป็นวาฬมีฟัน หรือโลมาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Pseudorca มีลักษณะลำตัวยาวสีดำคล้ายกันมากกับวาฬนำร่องครีบสั้น ขนาดโตเต็มที่ยาวถึง 6 เมตร ลูกแรกเกิดยาว 1.5-2 เมตร การตั้งท้องใช้เวลา 12-14 เดือน นอกจากนี้แล้วในธรรมชาติยังพบมีการผสมข้ามพันธุ์กับโลมาปากขวดด้วย โดยลูกที่ได้เรียกว่า "วูลฟิน" เป็นโลมาที่พบกระจายพันธุ์ทั่วทั้งโลก โดยมากจะอยู่รวมเป็นฝูงในทะเลใกล้ชายฝั่ง ประเทศไทยมีรายงานพบในหลายจังหวัดทั้งในอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1

    สุดประทับใจ! วาฬสีน้ำเงิน โผล่เล่นน้ำ สิมิลัน ไทยพบเป็นครั้งที่ 3

    เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 มี.ค. 60 ผู้สื่อข่าวรายงาน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หน.สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอ Blue whale หรือ วาฬสีน้ำเงิน ที่เข้ามาว่ายน้ำเล่นระหว่าง เกาะห้าและเกาะหก ของหมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา โดยเป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นผู้ถ่ายไว้ได้ ขณะออกตรวจสอบพื้นที่ ก่อนวาฬสีน้ำเงินได้ว่ายหายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะ ซึ่งวาฬตัวดังกล่าว น่าจะมีขนาดยาวมากกว่า 15 เมตร คาดว่าจะเป็นวาฬเฉพาะถิ่น เป็นกลุ่มประชากรวาฬสีน้ำเงินแคระ Dwarf blue whale ซึ่งอาศัยในมหาสมุทรอินเดีย จะมีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 25 เมตร

    ทั้งนี้ ในทะเลไทยเคยพบวาฬสีน้ำเงินเพียง 3 ครั้ง โผล่ในฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด โดยพบครั้งแรก เมื่อปี 2550 ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ต่อมาพบเข้ามาเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี 2556 ล่าสุด พบอีกครั้งที่หมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งการพบวาฬสีน้ำเงินในทะเลอันดามันส่วนใหญ่จะเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นตามแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ วนไปเรื่อยๆ โดยอาหารหลักของวาฬสีน้ำเงินจะเป็น กุ้งเคยและแพลงก์ตอน แต่ก็อาจจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ปลาขนาดเล็กเข้าไปด้วย ซึ่งจะมีอัตราการกินอาหารอยู่ที่ 2-5% ของน้ำหนักตัว บางส่วนก็อพยพเพื่อหาพื้นที่ในการออกลูกและเลี้ยงดู โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีประมาณ 2-5 ตัว แต่ส่วนใหญ่จะพบครั้งละตัว เนื่องจากวาฬสีน้ำเงินสามารถดำน้ำลงไปหาอาหารได้ลึกถึง 100 เมตร และอยู่ใต้น้ำได้ครั้งละ 20-40 นาที

    โดย วาฬสีน้ำเงิน ถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 26-29 เมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ ประมาณ 100-200 ตัน แต่ที่ใหญ่ที่สุดจากสถิติเท่าที่มีการบันทึก ความยาวจะอยู่ที่ 31.2 เมตร เฉพาะลิ้นก็มีน้ำหนักเกือบเท่าช้างหนึ่งตัว หัวใจมีขนาดเท่ารถยนต์คันหนึ่ง และเส้นเลือดบางเส้นกว้างขนาดที่มนุษย์พอจะลงไปว่ายน้ำได้ และครีบหางก็มีขนาดกว้างกว่าปีกของเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา ปัจจุบัน มีปริมาณวาฬสีน้ำเงินในซีกโลกใต้อยู่ประมาณ 1,350 ตัว อีกทั้งมีหลักฐานว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี แต่ยังไม่มีการประมาณจำนวนวาฬชนิดนี้ที่ดีพอในบริเวณอื่นของโลก

    (ภาพจาก : เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน)

    ข้อเท็จจริงกรณีวาฬบรูด้าเกยตื้นที่สามร้อยยอด

    กรณีพบซากวาฬบรูด้าเกยตื้น บริเวณบ้านคุ้งโตนด ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ ยาว 5.5 เมตร หนักประมาณ 500-600 กก. อายุประมาณ 3-6 เดือน สภาพซากเน่า คาดว่าตายมาแล้วประมาณ 5-7 วัน ลักษณะภายนอก ไม่พบร่องรอยของเครื่องมือประมง

    ส่วนผลการชันสูตรซาก พบส่วนหัวมีการบวม ช้ำ ตับเนื้อค่อนข้างเละ กล้ามเนื้อส่วนใหญ่เน่าสลาย สาเหตุการตาย สามารถสันนิษฐานเกิดได้ 2 สาเหตุ ได้แก่
    1) ป่วย
    2) พลัดหลงกับแม่
    ประกอบกับสภาพทะเลมีคลื่นลมทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

    ตะลึงพบซากสัตว์ทะเลหายากตายเพิ่ม10%

    ทช.เผยปี2559 พบสัตว์ทะเลหายากตาย 355  ตัว เพิ่มจากปีที่แล้ว 10 % สาเหตุกินสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์ทิ้งลงทะเล-ประมง

    เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า  ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมานั้น มีสัตว์ทะเลหายากตายไปทั้งสิ้น 355 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10%  แบ่งเป็น พะยูน 11 ตัว เต่าทะเล 180 ตัว โลมา และวาฬ 164 ตัว โดยที่ โลมาและวาฬในพื้นที่อ่าวไทยตายมากกว่าพื้นที่อันดามัน 2 เท่า ส่วนเต่าทะเลอัตราการตายระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันนั้นใกล้เคียงกัน สำหรับพะยูนนั้น พบว่าฝั่งอันดามันจะมีพะยูนตายมากกว่าอ่าวไทยประมาณ 70-80%

    สาเหตุการตายส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องเดิมๆที่เรายังไม่สามารถแก้ไขให้หายขาดได้ เช่น การเจ็บป่วย ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งจากธรรมชาติและเป็นฝีมือมนุษย์ เช่น กินสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์ทิ้งลงไปในทะเล การได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมง ทั้งนี้โลมาที่ว่ายน้ำมาเกยตื้นบนฝั่งและมีคนพบ ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในอาการป่วยหนักมาทั้งสิ้น โอกาสรอดแทบจะเป็นศูนย์ ขณะที่เต่าทะเลส่วนใหญ่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ สำหรับวาฬนั้น จะเจอที่เป็นซากคือตายมาก่อนหน้านี้แล้วนายปิ่นสักก์กล่าว

    นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ทช.ได้จัดอบรมเรื่องการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ปีละ 250 คน จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งผลของการอบรมนั้นเป็นที่น่ายินดีว่าสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะขยายพื้นที่ในการดำเนินการต่อไป เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของสัตว์ทะเลหายากให้มากยิ่งขึ้น

    การเก็บกู้ซากวาฬขนาดใหญ่ท่าเรือแหลมฉบัง

    8:00 ศวทอ. ได้รับแจ้งว่ามีซากวาฬ พบเมื่อเรือจอดที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังแล้ว
    9:00 ThaiWhales ได้รับแจ้ง และน่าจะพร้อมๆกับเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ
    12:30 ทีมศวทอ. และสัตวแพทย์ถึงที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยทีมวาฬไทย , เจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง เทศบาลแหลมฉบัง, เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยทางน้ำเพียวเยี้ยงไท้ศรีราชา, บริษัทเครนศิลาพล ทุกฝ่ายประชุมหารือกัน

    ในครั้งแรก ทางทีมศวทอ. พยายามหาวิธีค้นย้ายซากที่เหมาะสมที่สุด โดยพยายามติดต่อเรือมาลากซากเพื่อไปขึ้นชายหาดใกล้เคียง แต่ด้วยการปรึกษากันแล้วต้องเปลี่ยนแผน และมีข้อสรุปร่วมกันดังนี้
    1. วาฬมีขนาดใหญ่มาก ยาว 11-12 เมตร หนัก ประมาณ 30 ตัน ลากด้วยเรือยากและใช้เวลามาก
    2. ท่าเรือน้ำลึกมีเรือขนาดใหญ่เข้าออกตลอดเวลาการเอาเรือเล็กเข้ามาอาจเป็นอันตรายได้
    3. หาดที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปพอสมควร จากที่เคยลากซากต้องวิ่งเรือช้าๆ เพื่อคงสภาพซาก จะใช้เวลานานมาก และจากประสบการณ์จากการจัดการซากวาฬที่บางแสนเมื่อไม่กี่วันก่อน พบว่าการลากซากวาฬความยาวเพียง 6 เมตรจากทางเรือ ยังมีชิ้นส่วนซากยังหลุดหายไปมาก
    4. ต้องการรักษาสภาพซากให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตได้ดีที่สุด

    ดังนั้นจึงมีขอสรุปให้ใช้รถเครนมายกซากวาฬขึ้นจากน้ำและนำใส่รถและเอาไปผ่าชันสูตรที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ น่าจะเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด

    17:00 รถเครนและแหเพื่อมาห่อรักษาสภาพซากวาฬมาถึง และ เริ่มทำการประกอบเครน นักประดาน้ำจากทีมกู้ภัยมาช่วยผูกซาก ห่อซาก และเครนยกซากขึ้นมาได้เมื่อประมาณ 19.00
    21:00 รถบรรทุกที่ทางเทศบาลเตรียมไว้ให้ใหญ่ไม่พอ จึงประสานงานเปลี่ยนเป็นรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นใกล้เคียงมาแทน ซึ่งใช้เวลาไม่นาน รถตำรวจและกู้ภัยช่วยนำซากมาไว้ที่เทคโนโลยีราชมงคลบางพระ โดยมีอาจารย์และนักศึกษาช่วยประสานงานอยู่ แล้วเสร็จประมาณ 24:00

    จากการพิจารณาซากภายนอก สัตวแพทย์ประจำศวทอ. พบเบื้องต้นว่า
    1. เป็นวาฬบรูด้า ความยาว 13.8 เมตร. หนักประมาณ 20 ตัน เพศเมีย สภาพซากวาฬค่อนข้างสมบูรณ์ กระดูกยังอยู่ครบ ครีบหลังและครีบหางสมบูรณ์
    2. พบรอยผิดปกติ 2 แบบ คือ
    2.1 รอยกลมๆ กัดเนื้อวาฬแหว่งไป พบบริเวณส่วนล่าง ซึ่งคาดว่าเกิดจาก Cookiecutter Shark ซึ่งส่วนมากพบในน้ำลึก และไม่ค่อยพบในอ่าวไทย ซึ่งสัตว์ตัวนี้อาจกินเนื้อวาฬที่ตายแล้วหรือสามารถกัดวาฬที่ยังมีชีวิตแต่ว่ายน้ำช้าหรือป่วยได้.
    2.2 พบรอยเป็นวงกลมๆ ปูดขึ้นมาทั่วตัวซึ่งอาจเป็นรอยโรคที่ เกิดจากไวรัส เชื้อรา แบคทีเรียหรือแม้กระทั่งเนื้องอกได้ (ทั้งนี้ต้องผ่าพิสูจน์ และนำเนื้อเยื่อเข้าห้องทดลองต่อไป
    3. บริเวณส่วนหลัง มีรอยหักและครีบข้างด้านขวามีรอยหัก
    4. พบรอยแดงๆ ที่ด้านซ้ายลำตัว ซึ่งแยกเป็น 2 สาเหตุ คือ รอยแดงจากการช้ำ มีเลือดคั่งที่ด้านซ้ายของลำตัว และรอยสีส้มๆ ที่เป็นสีเดียวกับเรือ การช้ำนี้อาจเกิดขึ้นจากหลังวาฬตายหรือก่อนตายก็เป็นไปได้ต้องรอการผ่าชันสูตร

    ผ่าซากวาฬกลางทะเลบางแสน

    หลังจากเพิ่งพบซากวาฬบรูด้าและลากเข้าฝั่งเพื่อทำการชันสูตรหาสาเหตุการตายไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้พบซากวาฬลอยกลางทะเลบางแสนแถวเขาสามมุขอีกหนึ่งตัว เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก พร้อมด้วยทีมฉลามขาวและอาสาสมัคร ได้ช่วยกันออกค้นหาซากจนพบ แต่เนื่องจากคลื่นลมแรงทำให้ไม่สามารถดำเนินการลากเข้าฝั่งได้ จนกระทั่งซากไปติดกลางแปลงหอย ทำให้ ต้องทำการชันสูตรซากวาฬกลางทะเลพบว่าเป็นวาฬบรูด้าเพศผู้ ความยาวประมาณ 9.45 เมตร คาดว่าตายมาแล้วไม่เกิน 1 สัปดาห์ สาเหตุการตาย ไม่สามารถสันนิษฐานได้เนื่องจากไม่สามารถพลิกตัววาฬเพื่อผ่าดูอวัยวะภายใน ทำได้เพียงแต่เก็บชิ้นเนื้อเพื่อตรวจสอบ DNA และโลหะหนักปนเปื้อนเท่านั้น

    อนึ่ง การชันสูตรซากวาฬหรือสัตว์ทะเลต่างๆ อย่างทันท่วงทีถือเป็นภารกิจสำคัญที่เจ้าหน้าที่จะกระทำอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะวาฬซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ จำนวนประชากรหรือการตายอย่างผิดปกตินับว่ามีนัยสำคัญและผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม

    พบซากวาฬกลางทะเลแถวเขาสามมุข บางแสน

    กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนา ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง อ่าวไทยตะวันออกได้รับแจ้งจากกลุ่มกู้ภัยฉลามขาวว่าพบซากวาฬลอยห่างจากทะเล 4ไมล์ ในเบื้องต้นได้ประสานให้ทีมกู้ภัยฉลามขาวและเทศบาลนครแสนสุขลากซากเข้ามาบริเวณฝั่งเพื่อป้องกันซากจมหาย ที่หาดบริเวณหน้าโรงแรมเดอะไทด์ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี

    ผลเบื้องต้นจากการตรวจสอบในวันรุ่งขึ้นพบว่า ซากที่พบคือวาฬบูรด้า(Bryde's whale,Balaenoptera edini) ความยาววัดแนบลำตัว 6.7เมตร เพศเมีย อายุประมาณ1 ปี สันนิษฐานว่าตายมาแล้วไม่เกิน1สัปดาห์ ไม่พบบาดแผลภายนอก ส่วนกะโหลกจมน้ำไม่สามารถนำมาชันสูตรได้ ท้องส่วนล่างแตกและมีร่องรอยปลาขนาดใหญ่กัดหลังการตาย ทำให้อวัยวะภายในส่วนใหญ่สูญเสียสภาพไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่างผิวหนังเพื่อหาลักษณะทางพันธุกรรม และเก็บชิ้นไขมันเพื่อตรวจสอบโลหะหนัก และประสานงานกับเทศบาลแสนสุขในการทำการฝังซากในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

    พบซากบรูด้าที่ตราด

    เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากจ.ตราด รับแจ้งพบซากสัตว์ทะเลขนาดใหญ่เกยตื้น บริเวณชายฝั่งบ้านคลองมะนาว หมู่ที่ 4 ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นวาฬบรูด้า ความยาวประมาณ 10 เมตร สภาพเน่า ลำตัวหักเป็นสองท่อน ส่วนหัวหลุดหายไป จึงแจ้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกทราบเพื่อร่วมทำการพิสูจน์เก็บซากต่อไป

    ประกาศให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนแห่งชาติ

    จำนวนวาฬบรูด้าในน่านน้ำทะเลที่ลดลงจนเข้าขั้นวิกฤติ ทำให้การผลักดันวาฬบรูด้าให้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวน ลำดับที่ 16 ถูกรณรงค์อย่างเข้มข้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

    วันที่ (21 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ชื่อของวาฬบรูด้า รวมทั้งสัตวส์ชนิดอื่นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จะถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ ให้สัตว์เหล่านี้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยไม่ได้ประกาศสัตว์ชนิดใด เป็นสัตว์สงวนเพิ่มเติม ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มานานถึง 30 ปี

    การผลักดันให้วาฬบรูด้า ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จะทำให้วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ทะเลชนิดที่ 2 ที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสัตว์ป่าสงวน ต่อจากพยูน เช่นเดียวกับสัตว์อีก 3 ชนิด ได้แก่ วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นสัตว์สงวน ลำดับที่ 17-19

    ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลไทย ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า วาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของอ่าวไทย แต่ปัจจุบันพบว่า วาฬบรูด้าเหลือเพียงประมาณ 50 ตัวเท่านั้น ตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนใน ทั้งยังเสี่ยงเสียชีวิต และถูกคุกคามเพิ่มขึ้น

    คณะรัฐมนตรีมีมติในวันนี้ เห็นชอบให้ วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของไทย จะช่วยยกระดับความสำคัญ และเกิดมาตรการดูแลและช่วยเหลือวาฬต่างๆมีกฎหมายรองรับและเกิดขึ้นได้ชัดเจน เช่น ศูนย์วิจัยและช่วยเหลือวาฬ การให้ความรู้ และสร้างการท่องเที่ยวชมวาฬ ในพื้นที่กรุงเทพและพื้นที่ใกล้เคียงกลายเป็นแหล่งดูวาฬเชิงอนุรักษ์ระดับอาเซียน รวมทั้งเกิดพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ในอ่าวไทยที่ยั่งยืน

    พบซากวาฬหัวทุยที่ภูเก็ต และซากวาฬลอยกลางทะเลชุมพร

    ส่วนหัวของวาฬหัวทุยในสภาพที่ยังมีกรามล่าง และมีฟันอยู่ ซากถูกพบที่ในทอน จ.ภูเก็ต และในวันเดียวกันนี้มีรายงานการพบซากวาฬ ลอยอยู่แถว ปากน้ำหลังสวน จ.ชุมพร คาดว่ามีความยาวประมาณ 11 เมตร ลอยอยู่ห่างฝั่งประมาณ 31 กม. ยังไม่สามารถลากเข้าฝั่งได้

    พบซากวาฬบาลีน ที่เกาะหมาก จ.ตราด

    ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม

    พบซากวาฬแถวเกาะบอน สิมิลัน

    พบซากวาฬแถวเกาะบอน สิมิลัน จ.พังงา ลักษณะซากเน่าแล้ว ต่อมาถูกพบที่เกาะตาชัย และถูกลากเข้าฝั่งเพื่อทำการชันสูตร (ผลชันสูตรภายหลังพบว่าเป็นวาฬบรูด้าเพศเมีย ความยาวกว่า 13 เมตร แต่ไม่สามารถพิสูจน์หาสาเหตุการตายได้เนื่องจากซากเน่ามากแล้ว)

    พบซากวาฬแถวคลองวาฬ(หาดท้ายเหมือง)

    ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม

    เจ้าหน้าที่จับกุมเรือประมงเวียดนาม

    เจ้าหน้าที่จับกุมเรือประมงเวียดนามที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทย และพบซากสัตว์ประเภทโลมาหรือวาฬ รวมอยู่ด้วย คาดว่าน่าจะเป็น "วาฬเพชฌฆาตดำ (False Killer Whale)

    “พบซากลูกวาฬบรูด้า ทะเลละแม”

    "พบซากลูกวาฬบรูด้า ทะเลละแม"

    วันที่ 27 ธันวาคม 2557 เวลา 22.30 น. กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนกลาง รับแจ้งจากเครือข่ายใน อ.ละแม จ.ชุมพร พบลูกวาฬบรูด้า ยาวประมาณ 5 เมตร เกยตื้นเสียชีวิต บริเวณชายทะเล อ.ละแม จ.ชุมพร จึงรีบประสาน เพื่อเก็บซากไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายต่อไป

    ทช.ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ สรุป “วาฬบรูด้า” ตายเพราะติดอวนเรือประมง

    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ เผย “วาฬบรูด้า” เกยตื้นแหลมฟ้าฝ่า ตายผิดธรรมชาติ คาดติดอวน ดิ้นไม่หลุด แล้วโดนทำร้ายจนช็อก วอน ปชช. ร่วมมือดูแลสัตว์ทะเลหายาก เตรียมระดมทุนตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลครบวงจร

    วันนี้ (3 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนพพล ศรีสุข อธิบดี ทช. พร้อมด้วย สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงผลการผ่าพิสูจน์ซากวาฬบรูด้า ที่เกยตื้นบริเวณป่าโกงกางชายฝั่งทะเล อ.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย สพญ.นันทริกา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นวาฬบรูด้าเพศผู้ อายุไม่เกิน 10 ปี มีขนาดลำตัว 11.27 เมตร โดยคาดว่ามีน้ำหนักตัวประมาณ 80 ตัน ผิวหนังภายนอกลอกหลุด พบรอยรัดจำนวน 4 รอย สันนิษฐานสาเหตุการตายเกิดจากสภาวะช็อก เนื่องจากไม่พบเลือดภายในหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งเกร็ง และรอยรัดที่พบบริเวณครีบอก เกิดขึ้นก่อนวาฬตาย เนื่องจากพบรอยช้ำบริเวณเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ส่วนรอยรัดบริเวณด้านหลังน่าจะเกิดหลังวาฬตายแล้ว นอกจากนี้ ลักษณะการตายน่าจะเป็นการตายแบบเฉียบพลัน ผิดธรรมชาติ เนื่องจากวาฬยังสามารถกินอาหารได้ ร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์

    ด้าน นายนพพล กล่าวว่า วาฬบรูด้าไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทย มันจะเข้ามาในพื้นที่ ก็ต่อเมื่อมันเจอแหล่งอาหาร จากการพูดคุยกับเครือข่ายเราสันนิษฐานว่าวาฬอาจจะไปหากินตอนที่มีการทำประมง อาจจะมีเรือประมงบางชนิดซึ่งไปหาปลาช่วงนั้น เราคาดการณ์ว่าวาฬบรูด้าตัวดังกล่าว คงไปติดกับเชือกหรืออวนในเรือ ซึ่งวาฬมีขนาดใหญ่ คงดิ้นลำบาก และคงมีความพยายามเอาวาฬออกจากเรือด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะมีรอยช้ำเกิดขึ้น จากการกระทำนี้ตนขอฝากไปยังประชาชนช่วยเป็นเครือข่าย และร่วมกันดูแลสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ด้วย เพราะการพบเห็นประชากรสัตว์ทะเลหายากนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย

    “เราสังเกตจากรอยเชือกและรอยฟกช้ำซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จากข้อมูลน่าจะมีเรือประมงบริเวณนั้น ซึ่งการพิสูจน์มีรอยรัดของเชือก และรอยฟกช้ำ จึงสันนิษฐานว่าปลาตัวนี้อาจจะไปติดเชือก อวนหรืออุปกรณ์ใดก็แล้วแต่ในเรือ และมีความพยายามแกะปลาออก ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน เพราะวาฬตัวใหญ่มาก การที่จะไปแกะธรรมดานั้นยาก จึงอาจจะมีการใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งในการเอาวาฬออกให้ได้” นายนพพล กล่าว

    นายนพพล กล่าวต่อว่า ส่วนการกำจัดซากวาฬโดยธรรมชาตินั้น สัตว์ที่ตายลงต้องย่อยสลายและเป็นอาหารของสัตว์อื่นในระบบนิเวศต่อไป ซึ่งเราได้หารือกันว่าจะทำให้ซากมีขนาดเล็กลงแล้วทิ้งลงทะเลเพื่อเป็นอาหารของสัตว์อื่น แต่เกรงจะถูกมองว่าเอาของเน่าเสียไปทิ้งลงทะเล ความเป็นไปได้จึงอาจจะมีการย่อยสลายซากให้เล็กลง และนำไปเผา โดยอยู่ระหว่างการหาเตาเผาของเอกชน หรือเตาเผาที่ไม่ก่อมลพิษ เพราะซากมีขนาดใหญ่มาก ส่วนกระดูกวาฬจะเก็บไว้เพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม จากนี้ ทช. จะของบประมาณจากกระทรวงเพื่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก โดยร่วมมือกับทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีศูนย์ช่วยเหลือที่ครบวงจร มีอุปกรณ์สำหรับสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ตนอยากไปพูดคุยกับ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ซึ่งที่ผ่านมาเคยระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือหลายหน่วยงาน จึงขอฝากในเรื่องนี้ด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีศูนย์หรืออุปกรณ์ในการช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ และงบประมาณของภาครัฐก็มีจำกัด

    ทางด้าน สพญ.นันทริกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากไปยังเรือประมงว่าหากมีสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ไปติดที่อวน สัตว์เหล่านี้ไม่ใช่สัตว์ที่ก้าวร้าวหรือดุร้าย ขอให้ใช้วิธีค่อยๆ แกะหรือตัดอวนออก สัตว์ก็จะหลุดไปได้ และไม่ทำให้เรือและอุปกรณ์ประมงเสียหายมาก ทั้งยังจะเป็นการรักษาชีวิตสัตว์หายากเหล่านี้เอาไว้ด้วย

    วาฬยักษ์บรูด้าโผล่ทะเลชุมพร

    เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ ออกสำรวจ พบวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ โผล่พ้นผิวน้ำล่ต้อนฝูงปลา กลางทะเลอ่าวชุมพร ชี้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ คลื่นอ่าวไทยเริ่มสงบ

    เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 13 ก.พ. นายสุเทพ เจือละออง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลละชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง นายอติชาต ทองคำ นักวิชาการประมง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ได้นำเรือออกสำรวจทะเลในอ่าวชุมพร พบวาฬบรูด้า ขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 20 เมตร หนักประมาณ 20 ตัน โผล่พ้นผิวน้ำกำลังไล่ต้อนฝูงปลาอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ที่บริเวณเกาะง่ามน้อย อ.เมือง จ.ชุมพร ห่างจากฝั่ง 18 กิโลเมตร

    เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการบันทึกภาพเพื่อนำไปตรวจสอบว่า เป็นวาฬกลุ่มเดียวกับประชากรวาฬบรูด้าที่เคยพบในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนก่อนหน้านี้หรือไม่ นายอติชาต กล่าวว่า การพบวาฬบรูด้าในอ่าวชุมพรครั้งนี้ ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลชุมพรได้เป็นอย่างดี อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้วาฬบรูด้ามาปรากฏในทะเลชุมพร คงเป็นเพราะช่วงนี้คลื่นลมฝั่งอ่าวไทยตอนกลางเริ่มสงบแล้ว สัตว์ทะเลหายากอย่างโลมาหัวบาตร เต่าตนุขนาดใหญ่ และ วาฬบรูด้า จึงพากันเข้ามาหาอาหารในพื้นที่นี้

    ส่วนกรณีที่มีโลมาหัวบาตรเสียชีวิตถึง 5 ตัว เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ได้นำมาผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายแล้ว แต่เนื่องจากซากโลมาที่พบมีสภาพเริ่มเน่า จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เสียชีวิตเองตามธรรมชาติ หรือ ถูกมนุษย์ทำร้าย

    ฮือฮา! นักท่องเที่ยวเช่าเรือออกไปตกปลาในทะเลที่ชุมพรเจอฝูงวาฬ

    ชุมพร - ฮือฮานักท่องเที่ยวเช่าเรือประมงออกไปตกปลากลางทะเล ที่ชุมพร เจอวาฬบรูด้า พ่อ แม่ ลูก ว่ายวนเวียนหากินอยู่ข้างเรือสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

    เหตุการณ์ฮือฮานักท่องเที่ยวเช่าเรือประมงออกตกปลากลางทะเลเจอปลาวาฬบรูด้า พ่อ แม่ ลูกหากินวนเวียนอยู่ใกล้เรือ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 00.10 น.วันนี้ (7 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายจักรกริช คีรีวัฒน์ อายุ 25 ปี นายท้ายเรือ ส พงศ์นัดดานาวี ซึ่งเป็นเรือให้บริการเช่าเหมาแก่นักท่องเที่ยวทะเลออกไปตกปลากลางทะเล ว่า ขณะนำเรือลำดังกล่าวเข้าฝั่งเทียบท่าเรือที่บ้านสามเสียบ หมู่ 5 ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร หลังจากพานักท่องเที่ยวออกไปตกปลากลางทะเลตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา และการในการออกไปตกปลาในครั้งนี้มีเหตุการณ์ไม่คาดคิด และสร้างความตื่นเต้นให้แก่ตนเอง และนักท่องเที่ยวที่ออกไปตกปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากวาฬขนาดใหญ่ลอยตัวหากินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ กับเรือตลอดเวลา และวาฬที่เข้ามาไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่มาเป็นครอบครัว

    นายธนกาญจน์ กาญจนชุมพล อายุ 40 ปี นักท่องเที่ยวที่เช่าเหมาเรือลำดังกล่าวกับเพื่อนๆ รวม 5 คน และเป็นผู้บันทึกภาพวิดีโอไว้ กล่าวว่า ตนได้เช่าเหมาเรือประมงลำดังกล่าวออกไปตกปลากลางทะเล ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่ตนเองและเพื่อนกำลังตกปลาอย่างสนุกสนานอยู่บริเวณหน้าเกาะจระเข้ ห่างจากฝั่งประมาณ 5 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 10 กิโลเมตร ได้มองเห็นวาฬขนาดใหญ่ จำนวน 3 ตัว คาดว่าน่าจะเป็นวาฬบรูด้า เป็นพ่อแม่ลูก แหวกว่ายน้ำอยู่ห่างจากเรือไม่ถึง 100 เมตร ทั้ง 3 ตัวดำผุดดำว่ายหากินอยู่หลายนาที ด้วยความตื่นเต้นตนจึงใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพวิดีโอเอาไว้

    นายธนกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า จากนั้นช่วงบ่ายนายท้ายเรือได้ย้ายเรือไปตกปลาแถวหน้าเกาะง่าม ห่างจากจุดเดิมไปประมาณ 10 กิโลเมตร ขณะที่กำลังนั่งตกปลากันได้พักใหญ่ก็สังเกตเห็นฝูงปลาเล็กนับพันตัวกระโดดแตกตื่นขึ้นมาผิวน้ำจนแตกเป็นฟองกระจายเหมือนกำลังว่ายหนีอะไรมา ต่อมา พบว่ามีวาฬบรูด้า อีกหลายตัวอ้าปากพุ่งขึ้นมาจากใต้ท้องทะเลอย่างช้าๆ ก่อนจะฮุบกินปลาที่หนีขึ้นมาจับกลุ่มลอยตัวอยู่เหนือน้ำ

    ตนและเพื่อนต่างพากันตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะออกทะเลมานานนับสิบปียังไม่เคยเห็นวาฬตัวใหญ่ยาวกว่า 10 เมตร อย่างใกล้ชิดขนาดนี้ นับว่าเป็นบุญตาอย่างมากที่ได้เห็นวาฬตัวเป็นๆ และจะนำภาพวิดีโอที่ถ่ายได้ไปแชร์ให้คนอื่นได้เห็นว่าทะเลชุมพรยังมีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถนั่งเรือออกมาชมวาฬสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนี้จังหวัดชุมพร จะมีงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่คือ งานเทศกาลเปิดโลกทะเลชุมพร ซึ่งตนคิดว่าจะมีวาฬมาปรากฏตัวให้นักท่องเที่ยวได้ชมตลอดช่วงฤดูท่องเที่ยวนี้อย่างแน่นอน

    พบ “วาฬบรูด้าน้อย” เกยตื้นตายคาหาดอ่าวไทย

    พบ ลูกวาฬบรูด้าเพศเมีย อายุ 1 ปี เกยตื้นเสียชีวิตบริเวณชายหาดทะเลอ่าวไทย เจ้าหน้าที่เร่งผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่หาได้ยาก เต็มที

    วันที่ 31 พ.ค.54 เมื่อเวลา 09.00 น.นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา รับแจ้งจากชาวบ้านพบซากลูกวาฬบรูด้าเกยตื้นและชีวิตบริเวณริมชายหาดทะเลอ่าว ไทย บ้านพังสาย ม.7 ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา

    หลังจากที่นำเจ้า หน้าที่ของศูนย์วิจัยฯ ไปตรวจสอบพบว่าเป็นวาฬบรูด้า เพศเมีย อายุ 1 ปี ความยาว 4.40 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กก. เจ้าหน้าที่จึงได้นำซากมาตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตที่ศูนย์วิจัยฯ เบื้องต้นพบว่าที่บริเวณครีบทั้ง 2 ข้าง และโคนหางมีบาดแผลคล้ายกับติดอวนชาวประมง โดยวาฬบลูชนิดนี้ค่อนข้างพบยากในทะเลอ่าวไทยตอนล่างส่วนมากจะอาศัยอยู่ บริเวณฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยคาดว่าก่อนเสียชีวิตพลัดหลงจากแม่และฝูงที่มาหากินในทะเลอ่าวไทยตอนล่าง และว่ายไปติดอวนก่อนที่จะถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยฝั่ง

    ด้าน นายสันติ นิลวัตน์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เผยว่า จากสถิติพบว่าในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาลูกวาฬบรูด้าตัวนี้เป็นวาฬตัวที่3 ที่เสียชีวิตในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยตอนล่าง

    อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าได้ทำการผ่าพิสูจน์ลูกวาฬบรูด้าตัวนี้เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับขอความร่วมมือไปยังประชาชนและนักท่องเที่ยวรวมทั้งชาวประมงช่วยกัน ดูแล เพราะเป็นวาฬหายากพันธุ์หนึ่งของโลกที่พบในทะเลอ่าวไทย

    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก สำรวจซากวาฬบรูด้า เพศเมีย ตัวที่ 2 ลอยติดเกาะแสมสารสัตหีบ

    เมื่อ วันที่ 21 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวาเอก อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ว่าพบซากวาฬขนาดใหญ่ในสภาพลอยขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังถูกแดดเผาไหม้เกรียม เกยติดโขดหินบริเวณหาดเตย ด้านทิศตะวันตก ของเกาะแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ห่างจากชายฝั่งประมาณ 800 เมตร จึงประสานไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่วิชาการร่วมเข้าตรวจสอบ

    เวลาต่อ มา นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ได้เดินทางมาผ่าพิสูจน์ พร้อมเปิดเผยว่า ซากวาฬที่พบเป็น วาฬบรูด้า เพศเมีย อายุประมาณ 15 ปี หรือวัยเจริญพันธ์ มีความยาวประมาณ 10 เมตร น้ำหนักประมาณ 2 ตัน และตายมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ คาดว่าน่าจะเป็นฝูงวาฬที่เข้ามาหากินในทะเลอ่าวไทย และตายไปก่อนหน้านี้ กระทั่งถูกพบซากของมันลอยขึ้นอืดในทะเลแถบดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม การผ่าพิสูจน์พบว่าหัวกะโหลกได้หลุดหายไป แต่เป็นที่น่าสังเกตที่ภายในกระเพาะอาหารของวาฬตัวนี้ไม่พบเศษอาหารตกค้าง หรือมีอาหารชนิดใด ๆ อยู่เลย คาดว่าจะป่วย โดยพฤติกรรมของวาฬแล้วหากล้มป่วยจะไม่กินอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น จนเสียชีวิตขณะพยายามว่ายน้ำพาตัวเองเข้าฝั่ง ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้น ของวาฬบรูด้าทั้งสองตัวที่พบ ต้องรอผลพิสูจน์อย่างเป็นทางการ จากการสันนิษฐานเบื้องต้น คาดว่า น่าจะเกิดจากภาพแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมลง ทั้งจากสภาวะน้ำเน่าเสีย สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งลงทะเล ล้วนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งสิ้น และน่าจะเป็นเหตุพลหลักที่ส่งผลให้วาฬบรูด้าเสียชีวิต

    สำหรับ วาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40 -70 ร่อง เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาวประมาณ 14 - 15 เมตร น้ำหนักมากสุด 20 - 25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา 250 - 370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน เคย ลูกปลา และปลาหมึก มีถิ่นอาศัยประจำอยู่ในอ่าวไทย และสามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบมากที่ทะเลด้านนอก แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบัน จากการสำรวจพบมีจำนวนน้อยลงถึงขึ้นใกล้สูญพันธ์

    นาวาเอก อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะหันมาช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขณะนี้สภาวะแวดล้อมในทะเลได้เสื่อมโทรมลงถึงขึ้นวิกฤติ ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น และจากการเสียชีวิตของวาฬบรูด้าทั้งสองตัวที่พบในทะเลอ่าวไทย อาจเป็นสิ่งบอกเหตุว่า ธรรมชาติกำลังย้อนกลับมาทำร้ายสิ่งมีชีวิตบนโลก เหมือนที่มนุษย์กำลังทำลายธรรมชาติให้หมดไป

    วาฬบรูด้าเกยตื้นตายคาอ่าวแม่กลอง

    สลดพบวาฬบรูด้าเพศผู้ หนัก1ตัน เกยตื้นตายคาอ่าวแม่กลอง คาดเป็น 1ในฝูงที่เข้าหากินปลากะตักในอ่าวไทย

    เมื่อ วันที่ ( 18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวประมงชายฝั่งว่าพบวาฬขนาดใหญ่ตายลอยอืด ที่บริเวณปากอ่าวแม่กลอง ห่างชายฝั่งประมาณ 1,500 เมตร ใกล้ดอนหอยหลอดแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ในพื้นที่หมู่ 8 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงประสานมูลนิธิสว่างเบญจธรรมสมุทรสงครามนำเรือออกไปตรวจสอบพบวาฬขนาดใหญ่ สภาพขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังถูกแดดเผาไหม้เกรียม

    ต่อมา ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร ได้เดินทางมาดูวาฬ พร้อมกล่าวว่า วาฬที่พบเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ อายุประมาณ 1 ปี ยาวประมาณ 8 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน และตายมาแล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์ และคาดว่าน่าจะเป็นฝูงวาฬ 1 ใน 19 ตัว ที่เข้ามาหากินปลากะตักในอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม ไปจนถึงเพชรบุรี ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.พ. เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร จะผ่าพิสูจน์หาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง

    สำหรับวาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุด และใกล้จะสูญพันธ์แล้ว มีถิ่นอาศัยประจำอยู่ในอ่าวไทย และสามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบมากที่ทะเลบ่อนอกจ.ประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15 เมตร น้ำหนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา 250-370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน เคย ลูกปลา และปลาหมึก เป็นต้น

    ทช.นำสื่อมวลชนออกติดตามวาฬบรูด้า พบจำนวน 5 ตัว บริเวณแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี

    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ร่วมพิทักษ์รักษ์วาฬบรูด้า โดยนำคณะสื่อมวลชนลงเรือตรวจการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อออกสำรวจและถ่ายภาพวาฬบรูด้า บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ใช้เวลาเดินทางจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จังหวัดสมุทรสาคร ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงถึงจุดเฝ้าสังเกตการณ์วาฬบรูด้า บริเวณแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต้องมีการชะลอความเร็วของเครื่องยนต์ ในการติดตามพฤติกรรมหาอาหาร คือปลากะตัก ของวาฬบรูด้า และรักษาระยะห่างในรัศมี 100-300 เมตร เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของวาฬบรูด้า ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมง ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามในครั้งนี้ พบวาฬบรูด้า จำนวน 5 ตัว ซึ่งจะต้องศึกษาการเคลื่อนย้ายของวาฬบรูด้ากลุ่มนี้ต่อไป ว่ามีการอพยพตามแหล่งอาหารไปตามแนวชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ หรือเคลื่อนย้ายออกไปยังบริเวณทะเลน้ำลึก นอกจากนี้ยังต้องให้คำแนะนำข้อควรปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า ซึ่งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีจำนวน 20-50 ลำ เพราะหากมีเสียงดังรบกวนของเรือมากเกินไป อาจทำให้วาฬบรูด้าอพยพย้ายถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม ดร.กาญจนา กล่าวว่า จะมีการติดต่อนักวิจัยต่างชาติที่สนใจเข้ามาศึกษาติดตามประชากรวาฬบรูด้าในประเทศไทย โดยศึกษาเชิงลึกด้วยการตรวจ DNA เพื่อเปรียบเทียบกลุ่มประชากรวาฬบรูด้า และตรวจสอบโครงกระดูกวาฬบรูด้า ที่เกยตื้นตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งพบหลักฐานโครงกระดูกวาฬบรูด้า ที่สมบูรณ์และเก่าแก่ถึง 102 ปี ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

    ฝูงวาฬบรูด้าจำนวน 14 ตัว โผล่อ่าวไทยบริเวณ จ.สมุทรสาคร ชาวบ้านยัน เป็นการพบมากที่สุดแล้ว ชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้เป็นอย่างดี…

    ฝูงวาฬบรูด้าจำนวน 14 ตัว โผล่อ่าวไทยบริเวณจ.สมุทรสาคร ชาวบ้านยัน เป็นการพบมากที่สุดแล้ว ชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้เป็นอย่างดี...

    เมื่อ เวลา 13.00 น.วันที่ 17 ส.ค. นายวรพล ดวงล้อมจันทร์ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7/13 ม.3 ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร แจ้งผู้สื่อข่าวว่า ได้พบวาฬนับสิบตัวบริเวณหน้าศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติมหาชัย ฝั่งตะวันออก ม.3 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวจึงรุดไปตรวจสอบ

    โดยนายวรพล เปิดเผยว่า ในขณะออกสำรวจน้ำเรื่องการกระจายตัวของแพลงก์ตอนพืชว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยตรวจร่วมกับนายอรรถพล อินทร์แปลง อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 296/3 ม.3 ต.ม่วงตึด อ.ภูเพียง จ.น่าน เจ้าหน้าที่ประมงศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน นายนิรันดร แก่นแดง อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/10 ม.2 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ช่างเครื่องเรือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากศูนย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอน บนรวม 6 คน

    "เมื่อ สำรวจออกมาห่างจากบริเวณหน้าศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติมหาชัย ฝั่งตะวันออกประมาณ 3,000 เมตร ความลึกระดับ4.50-5 เมตร ปรากฏว่าพบวาฬซึ่งอยู่ห่างจากเรือตรวจประมาณ 100 เมตร 2 ตัว พอมองไปโดยรอบก็พบจุดละ 2 ตัว รวมทั้งหมด 8 ตัว และพบบริเวณปากร่องแม่น้ำท่าจีนอีกฝูงหนึ่ง ซึ่งมีระยะห่างจากฝูงแรกที่พบประมาณ 500 เมตร 6 ตัว รวมทั้งสิ้น 14 ตัวในเวลาเดียวกัน" นายวรพล กล่าว

    นอกจากนี้ นายวรพล ยังกล่าวอีกว่า สำหรับวาฬที่พบ คาดว่าจะเป็นวาฬบรูด้าสายพันธ์ุ EDENI (อิดิไน) ซึ่งเป็นวาฬที่มีสันหัว 3 สัน ความยาวประมาณ 10 เมตร โดยวาฬดังกล่าวส่วนมากจะมาเป็นคู่ๆ ซึ่งบริเวณที่วาฬมีมากนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของอ่าวที่มีลูกสัตว์ น้ำเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันอ่าวไทยตอนบนบริเวณจ.สมุทรสาคร จะมีปลาโลมาให้เห็นประมาณ 30-40 ตัว ส่วนวาฬที่พบในครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยพบมา เพราะเคยพบมากสุดแค่ 2 ตัวเท่านั้น โดยวาฬจะกินพวกปลากะตัก พวกเคย สัตว์น้ำเล็ก ส่วนปลาโลมาจะหากินตั้งแต่สัตว์น้ำเล็กจนถึงใหญ่ เช่น กุ้ง หมึก และปลากุเลา เป็นต้น ซึ่งวาฬบรูด้าชนิดนี้จะไม่มีฟัน แต่จะใช้ซี่กรองอาหารอยู่ข้างปาก คล้ายขนแปรงขนไม้กวาด โดยนับว่าเป็นสัตว์หายากแล้ว ดังนั้นจึงอยากจะฝากชาวประมงว่า ถ้าพบซากวาฬ ก็แจ้งมายังที่ศูนย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะหาสาเหตุการตาย และจะได้หาแนวทางแก้ไขส่วนถ้าบาดเจ็บก็จะหาทางช่วยปฐมพยาบาลและช่วยเหลือได้ ทัน แต่ถ้าเป็นพบฝูงปลาก็ขอให้จดรายละเอียดตำแหน่งที่พบ เพื่อจะได้ประเมินศักยภาพระบบความสมบูรณ์ของจุดที่พบปลาได้ต่อไป

    4 วาฬยักษ์ บรูด้า โผล่ชายหาดบางแสน

    วาฬ ยักษ์ บรูด้า 4 ตัวว่ายเข้าใกล้ชายหาดบางแสน ดำผุดดำว่าย นางนวลเหิรลมเริงร่ารุมตอมปลาวาฬ สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามค้นหาหลงดำลงใต้ทะเล หวั่นวาฬโผล่เตือนความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ และภัยพิบัติ

    วันนี้ (21 กันยายน2551) ผู้ สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายเต่า ธรรมกิจจานุศร อายุ 50ปีชาวประมงท้องถิ่น แหลมแท่น บางแสน จ.ชลบุรี ที่ออกช้อนแมงกะพุนอยู่ในทะเล ห่างจากชายหาด บางแสนประมาณ 1.5 กิโลเมตรพบ ฝูงนกนางรมฝูงใหญ่ บินโฉบเฉี่ยวเริงร่าเป็น กลุ่มเป็นก้อน อยู่บริเวณแหล่งปะการังเทียม ศาลาอเนกประสงค์เฉลิมพระ เกียรติ บางแสน-แหลมแท่นตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ความแตกตื่น ของนกนางนวล บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในทะเล จึงได้จ้องจับตามอง และพยายาม พาเรือเข้าไปให้ใกล้ที่สุดบริเวณดังกล่าว

    ปรากฎว่าได้มีฝูงปลาตัว ขนาดใหญ่ ขึ้นหยอกล้อกันบนผิวน้ำ ได้จ้องจับ ตามองความเคลื่อนไหวชนิดตาไม่กระพริบ ใจจดใจจ่อว่าใต้ฝูงนกที่บินโฉบเฉี่ยว มันคืออะไรกันแน่

    นายเต่าเปิดเผยว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้พบตั้งแต่วัน ที่ 20 กันยายน เมื่อเห็นผิดสังเกตในทะเลจึงได้ประสานเพื่อนเรือประมงด้วยกันมาช่วยกันดูอีก ใจหนึ่งก็ไม่กล้าเพราะเห็นว่าเป็นสัตว์ใหญ่ในทะเล ขณะที่จ้องดูแบบใจจดใจจ่อ พากันเข้าไปดูใกล้ ๆ ต้องตกตะลึงมีปลาวาฬขนาดใหญ่ จำนวน 4 ตัวแต่ละตัวมี ความยาวประมาณตัวละ 8 เมตรโผล่หัวเหนือผิวน้ำ พ่นน้ำ ดำผุดดำว่ายอย่างมี ความสุข ซึ่งชาวประมงทั้งกลัว ทั้งกล้า ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบปลาวาฬยักษ์เข้าชายหาดบางแสนเลยสักครั้ง เดียว จะมีแต่เพียงปลาโลมาเท่านั้นที่พบกับบ่อย ๆ ทั้งชายหาดบางแสน และใกล้ เคียง น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่าอาจเกิดภัยพิบัติในทะเลอย่างแน่ นอน เพราะปลาใหญ่ยังเปลี่ยนวิถีชีวิตกันแล้ว อีกทั้งขณะนี้ธรรมชาติแปรปรวน อย่างมาก ทำให้ต้องระมัดระวังกันให้มากกว่าเดิม

    ต่อมาชาวประมงได้ แจ้งข่าวไปยังศูนย์วิจัยทางทะเลมหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน เพื่อให้รับทราบพร้อมกับมาตรวจสอบ แต่เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุด ราชการ เสาร์ อาทิตย์ จึงไม่มีผู้รู้มาทำงาน จากประวัติ ปลาวาฬชนิดนี้ ชื่อ ว่า ปลาวาฬบรูด้า เป็นปลาวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่าอาศัยอยู่ประจำถิ่นใน อ่าวไทยและมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ ต่างชาติหลายท่านพยายามศึกษาและตั้งชื่อปลาวาฬบรูด้า ในอ่าวไทยให้เป็นปลา วาฬชนิดใหม่ของโลก ปัจจุบันพบซากโครงกระดูกและสถิติทั่วประเทศรวม กว่า 100 แห่งล่าสุดพบเกยตื้นใกล้หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ วัน ที่ 22 พฤศจิกายน2540 ดูแลรักษาโดยดร. สุรพลสุดารา และนิสิตภาควิชาวิทยา ศาสตร์ทางทะเลรุ่น 31 (พ.ศ. 2540)

    ปลาวาฬบรูด้าเป็นปลาวาฬชนิดไม่มี ฟันแต่มีบาลีน ( Baleen) เป็น แผ่นกรองคล้ายหวีใช้กรองฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น ปลาทู ปลากะตัก เป็น ต้น ความยาวเฉลี่ยประมาณ 13 เมตรลำตัวสีเทาอมน้ำเงิน ด้านท้องสีขาวอม ชมพู พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ใน เขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล มักพบ ครั้งละ 1-2 ตัวออกลูกครั้งละ 1 ตัวระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 1 ปีลูกปลาวาฬ แรกเกิดมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร.วาฬบรูด้า( Bryde's whale) รูปร่างคล้าย ปลาวาฬฟินมากแต่จะต่างกันตรงที่ปลาวาฬบรูด้าจะมีสันบนหัว 3 สันแต่วาฬฟินมี เพียงสันเดียว ปลาวาฬบรูด้าโตเต็มที่ยาว14-15. 5 ม. หนัก30 ตันจัดเป็นปลา วาฬที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้

    ฝูงวาฬเพชฌฆาตร่วม30ตัว โผล่เกยตื้นเกาะราชา

    เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา ทรัพยากรชายทะเลและป่าชายเลนฯ พร้อมนักท่องเที่ยวช่วยกันกู้ชีวิตวาฬ หลังเกยตื้นกว่า 40 ตัว ที่บริเวณเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบล่าสุดตายแล้ว 1 ตัว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 มิ.ย.

    เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายทะเลและป่าชายเลน ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบนเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า มีวาฬมาเกยตื้นบริเวณชายหาดเกาะราชาจำนวน 20-30 ตัว หลังได้รับแจ้ง นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้ส่งสัตวแพทย์และนักวิชาการลงไปในพื้นที่กู้ชีวิตทันที

    นายวรรณเกียรติ กล่าว ว่า เบื้องต้นพบว่าวาฬดังกล่าว เป็นวาฬเพชฌฆาตเทียม ปกติจะอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึก การเข้ามาเกยตื้นในครั้งนี้เนื่องจากตัวนำฝูงอาจจะนำทางผิดพลาด เพราะในทะเลมีคลื่นลมแรง เมื่อเข้ามาในอ่าวที่เป็นช่องแคบทำให้ไม่สามารถกลับตัวได้ ด้วยมีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ ทั้งยังมีความยาวตัวละประมาณ 3-4 เมตร

    "การ เข้ามาของฝูงวาฬเพชฌฆาตเทียมเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติเพราะด้านนอกคลื่นลมแรง สัตว์ชนิดนี้จะมีสัญชาตญาณสูง จึงได้พากันหาที่หลบคลื่นลม ที่ผ่านมาก็เคยเจอแต่ไม่มากถึงขนาดนี้ เท่าที่เจ้าหน้าที่ประเมินน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ตัว แต่เหตุที่ชาวบ้านเห็นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งจะมีการว่ายน้ำอยู่หน้าอ่าวด้วย" นายวรรณเกียรติระบุ

    นายวรรณเกียรติ กล่าว ว่า หลังจากเดินทางไปถึงที่เกาะดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. ปรากฏว่าชาวบ้านได้ช่วยเหลือผลักดันวาฬบางตัวจนออกไปในทะเลได้แล้ว และได้เคลื่อนย้ายวาฬ 6 ตัว ไปยังอ่าวฝั่งตรงข้ามที่มีคลื่นลมสงบ จากการตรวจสอบสภาพร่างกายมี 1-2 ตัวที่มีอาการบาดเจ็บจากการที่ถูกกระแทก แต่ไม่พบอาการเจ็บป่วย จึงทำให้เชื่อได้ว่าวาฬเหล่านี้ต้องการเข้ามาหลบคลื่นลมแรง ล่าสุดเบื้องต้นตายแล้ว 1 ตัว

    พร้อมยืนยันว่า การเข้ามาของวาฬฝูงนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าจะเกิดเหตุร้ายแต่อย่างใด เพราะจากการตรวจสอบไม่พบอาการเจ็บป่วย มีเพียงอาการบาดเจ็บ เนื่องมาจากช่วงนี้คลื่นลมแรง จนทำให้ต้องหาที่หลบเพราะไม่สามารถประคองตัวอยู่ได้

    ขณะที่ นายดนัย ภู่เจริญ ผู้บริหารโรงแรมเดอะราชา ซึ่ง ตั้งอยู่บนเกาะราชา เล่าให้ฟังว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมามีพนักงานแจ้งว่าเห็นปลาขนาดใหญ่ประมาณ 20-30 ตัว มาเกยตื้นบริเวณหน้าหาด จึงได้ร่วมกับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านช่วยกันดันลงน้ำ แต่ปรากฏว่าไม่ยอมไป และกลับขึ้นมาอีก จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ กระทั่งได้เข้ามาช่วยเหลือย้ายไปยังอ่าวอีกด้าน ซึ่งคลื่นลมค่อนข้างสงบ

    นายดนัย กล่าวด้วยว่า จากที่สอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นวาฬชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นจำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุคิดว่าน่าจะมาจากคลื่นลมแรง และต้องการมาหาที่หลบคลื่นลมมากกว่า

    อึ้ง! วาฬตาย เพราะกินถุงพลาสติก นำกระดูกจัดระลึก

    นำกระดูก "วาฬหัวทุยแคระ" เหยื่อขยะพลาสติก จัดแสดงให้ความรู้ ถึงประวัติความเป็นมา สาเหตุการตาย ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล พร้อมทั้งตั้งชื่อ "ยะหยา" เป็นที่ระลึก ชี้เป็นบทเรียนแม้เป็นสัตว์อยู่ท้องทะเลลึก แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์ ขณะที่สัตวแพทย์ชี้ นอก จากวาฬยังมี "เต่าทะเล" ตกเป็นเหยื่อ ใน 1 ปีมาเกยตื้นตาย 20-30 ตัว ครึ่งหนึ่งกินพลาสติก เพราะเข้าใจว่าเป็นแมงกะพรุน ก่อนตายจะเจ็บปวดทรมานมาก กระเพาะไม่ย่อย อ้วก หมดแรงกระทั่งตาย

    จากเหตุการณ์สลด "วาฬหัวทุยแคระ" เพศเมีย ลำตัวยาวกว่า 2 เมตร หนักเกือบร้อยกิโลฯ ว่ายมาเกยตื้นที่ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ตรวจสอบเบื้องต้นมีบาดแผลเต็มตัว อยู่ในสภาพใกล้ตาย สัตวแพทย์ฉีดยากันช็อกระหว่างเคลื่อนย้ายไปรักษา แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ตายระหว่างทาง เมื่อผ่าท้องและกระเพาะถึงกับผงะ มีขยะพลาสติกเต็มท้อง คาดเป็นสาเหตุทำให้ไม่ย่อยและขับถ่ายระบายออกมาไม่ได้ ทางนักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเลวอนนักท่องเที่ยวอย่าทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล หวั่นวาฬและสัตว์น้ำอื่นกินตายอีก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

    ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจ และดูแลทะเลโดยไม่ทิ้งขยะลงทะเล นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเก็บขยะในทะเลอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะท้องทะเลกว้างใหญ่มาก จากกรณีของวาฬหัวทุยแคระน่าจะบ่งบอกได้ว่าปัจจุบันขยะไม่ได้มีอยู่แค่ชาย ฝั่งเท่านั้น แต่ลุกลามออกไปไกลในท้องทะเลลึก เพราะปกติวาฬจะไม่ว่ายเข้ามาใกล้ฝั่ง อยู่ในท้องทะเลที่ไกลออกไป

    อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวต่อว่ากรณีนี้จึงน่าเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกฝ่ายหันมาช่วยกันรณรงค์ดูแลท้องทะเลมากขึ้น เพราะ ขณะนี้ไม่เพียงแต่สิ่งที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้สภาพท้องทะเลเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกันคือพยายามดูแลรักษาท้องทะเลอย่างดีที่สุด ไม่ทำลายด้วยการทิ้งขยะลงไป แม้จะเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ส่งผลกระทบได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. เป็นวันทะเลโลก หรือWorld Ocean day การตายของวาฬหัวทุยแคระน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ตระหนัก และช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลให้มากขึ้น

    ด้าน น.สพ.สนธยา มานะวัฒนา สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ชันสูตร ซากวาฬที่ตายเรียบร้อยแล้ว พบว่าสาเหตุน่าจะมาจากภาวะอุดตันของกระเพาะอาหาร ที่มีเศษขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันจำนวนมาก ทำให้กระเพาะอักเสบ เป็นแผลหลุม และปื้นเลือดออกกระจายทั่วกระเพาะ นอกจากนี้ ยังพบภาวะท้องผูกบริเวณลำไส้เล็กส่วนท้าย บ่งชี้ถึงสภาวะขาดสารน้ำ คาดว่าเกิดจากการไม่ได้กินอาหารมาระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งพบภาวะติดเชื้อเป็นหนองในมดลูก ม้ามมีลักษณะหดตัวเล็กน้อย บ่งชี้ถึงการเสียเลือด เกิดจากแผลจำนวนมากในร่างกาย โดยภาวะทั้งหมดทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดสารอาหาร และช็อกจากความ เจ็บปวด

    น.สพ. สนธยากล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยพบสัตว์หลายชนิดที่ต้องตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป โดยเฉพาะพวกเต่าทะเล พบมาก ปีหนึ่งๆ จะมีเต่าเกยตื้นตาย 20-30 ตัว ครึ่งหนึ่งตายหรือพิการ เพราะติดเศษอวนของชาวประมง แต่อีกครึ่งหนึ่งตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป เนื่องจากมันเข้าใจว่าเป็นพวกแมง กะพรุน ถ้าหากสัตวแพทย์พบเร็วก็อาจจะช่วยชีวิตไว้ได้ แต่หากนานโอกาสมีชีวิตเหลือน้อย ที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นโคม่าแล้ว เนื่องจากสัตว์จะไม่เข้ามาใกล้ชายฝั่ง หรือมนุษย์ จนกระทั่งไม่ไหวแล้วเท่านั้นจึงถูกคลื่นซัดเข้ามา หากสัตว์ทะเลหรือสัตว์ต่างๆ กินพลาสติกเข้าไปจะเจ็บปวดและทรมานมาก เพราะกระเพาะไม่สามารถย่อยได้ จะทำให้ปวดท้องรุนแรง กินอาหารอื่นไม่ได้ อ้วกออกมาหมด ทำให้หมดแรงและตายในที่สุด

    ส่วน น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (ภูเก็ต) กล่าวว่า หลังจากชันสูตรซากวาฬแล้ว ทางสถาบันจะนำซากกระดูกของวาฬตัวนี้มาจัดเป็นมุมให้ความรู้ อยู่ในบริเวณสถาบัน พร้อมทั้งประวัติ ความเป็นมา และสาเหตุของการตายทั้งหมด เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงพิษภัยของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ประชาชน เพื่อช่วยกันดูแลท้องทะเล ไม่ทิ้งขยะลงไปสร้างความสกปรกให้ท้องทะเล และยังทำให้สัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลอื่นๆ มีโอกาสตายจากการกินขยะเหล่านี้ด้วย

    นักวิชาการ กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังตั้งชื่อให้วาฬหัวทุยแคระเพศเมียตัวนี้ว่า ยะหยา หมายถึงชุดท้องถิ่นของสตรีชาวภูเก็ต เพื่อเป็นที่ระลึกว่า มันได้มาตายที่ชายหาดป่าตอง ภูเก็ต และยังเป็นบทเรียนให้แก่มนุษย์เห็นว่า สัตว์ทะเลแม้อยู่ในท้องทะเลลึกก็อาจจะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลงานของ มนุษย์ได้เช่นกัน อีกทั้งมันยังช่วยสร้างกระแสให้คนตื่นตัวในการให้ความสำคัญรักษาธรรมชาติ มากขึ้น หวังว่าเมื่อเอ่ยชื่อยะหยาก็จะทำให้ทุกคนตระหนักไม่ทิ้งขยะลงในท้องทะเล หรือช่วยกันเก็บขยะขึ้นจากทะเลมากขึ้นอีกด้วย

    สลด! พบซากวาฬเพชฌฆาตดำเกยหาดชุมพร

    เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 29 มกราคม 2557 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีผู้พบซากวาฬขนาดใหญ่ถูกคลื่นซัดมาเกยหาดคอสน ติดถนนเลียบทะเล บ้านบางตุ่ม หมู่ที่ 11 ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิชุมพรการกุศลสงเคราะห์ และ เจ้าหน้าที่กู้ภัยเทศบาลตำบลท่ายาง กำลังช่วยกันใช้รถกระเช้าลากซากวาฬดังกล่าวจากบริเวณชายหาดขึ้นมาไว้บนถนน ตรวจสอบซากวาฬพบว่าจากส่วนหัวถึงปลายหางมียาวประมาณ 5 เมตร ลำตัวกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม สภาพสมบูรณ์ แต่เนื้อเริ่มเน่า มีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ จึงช่วยกันยกขึ้นใส่กระบะของรถกระเช้า เพื่อนำไปตรวจสอบทางวิชาการที่ศูนย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางจังหวัดชุมพร

    นายอติชาต อินทองคำ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ซากวาฬที่พบเป็นวาฬพันธุ์เพชฌฆาตดำ ซึ่งเป็นสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 ปี และเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 วันเพราะสภาพของซากวาฬเริ่มเน่าเหม็นแล้ว ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากอะไร และวาฬชนิดนี้หากินอยู่ในทะเลเปิดซึ่งห่างจากชายฝั่งมาก คาดว่าวาฬเพชฌฆาตดำตัวนี้คงเสียชีวิตตั้งแต่อยู่กลางทะเล จากนั้นจึงถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยหาด หลังจากนี้ คงต้องผ่าซากวาฬเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนนำเนื้อไปฝังเหลือเพียงส่วนกะโหลกเก็บไว้ใช้เพื่อการศึกษาต่อไป

    ติดดาวเทียม ตามดู “บรูด้า” อ่าวไทย

    ทันทีที่วัตถุสี่เหลี่ยมอันเล็กๆ ถูกยิงไปแปะอยู่บนผิวหนังเนียนนิ่ม ของเจ้าพัธยา ลูกวาฬบรูด้า จอมกระโดด แห่งทะลอ่าวตัว ก สำเร็จ ก็บังเกิดเสียงฮือฮา แสดงความดีอกดีใจพักใหญ่อย่างมากของคณะคนทำงานวิจัยศึกษาอนุรักษ์วาฬบรูด้า จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่ลอยลำเรือยางลำน้อยอยู่กลางอ่าวไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจ ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมวาฬบรูด้า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

    นายเกษมสันต์ จิณณวาโส หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่าถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง และเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาสัตว์ทะเลหายาก อย่างวาฬบรูด้า ซึ่งการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม (Satellite tagging) ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่และอพยพของวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมของ WILD LIFE COMPUTER รวมทั้งหมด 5 ตัว โดยได้รับความอนุเคราะห์เครื่องมือจาก จาก ดร.อากามะสุ โทโมนาริ และ ดร.อิวาตะ ทากาชิ 2 นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญวาฬ จากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 ตัว และจากนายชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ จำนวน 2 ตัว โดยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมนี้จะถูกรับส่งสัญญาณ

    โดยดาวเทียม ARGOS ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะส่งข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์มายังผู้ใช้ และสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.argos-system.cls.tr "เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน นำโดย ดร.กาญจนา อดุลยานโกศล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวาฬและโลมาของ ทช. พร้อมด้วยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นทั้งสองคน โดยใช้เรือยาง 2 ลำ ของศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (สมุทรสาคร) ออกสำรวจวาฬบรูด้าในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เมื่อพบก็ถ่ายภาพเพื่อระบุอัตลักษณ์ว่าเป็นวาฬบรูด้าตัวใด เมื่อระบุได้แล้ว เรือที่ติดอุปกรณ์เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมจะเข้าใกล้วาฬ แล้วใช้เสาคาร์บอนไฟเบอร์ความยาว 6 เมตร ที่ปลายมีเข็มสเเตนเลสความยาว 6 เซนติเมตร ซึ่งผูกกับเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมจะเข้าหาวาฬ แล้วแทงเข็มเหล็กเข้าที่บริเวณฐานครีบหลัง ซึ่งบริเวณที่มีชั้นไขมันหนาทำให้ลดการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นกับวาฬ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเก็บตัวอย่าง ดีเอ็นเอติดอยู่ที่ปลายเสาคาร์บอนไฟเบอร์ด้วย" นายเกษมสันต์กล่าว

    นายเกษมสันต์กล่าวว่า เวลานี้ คณะนักวิจัยสามารถติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมกับวาฬบรูด้าได้แล้วถึง 4 ตัวด้วยกัน คือ เจ้าเมษา เจ้าสมหวัง เจ้าท่าจีน และเจ้าพัธยา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ออกปฏิบัติการนั้น สามารถติดเครื่องบันทึกเสียงใต้น้ำกับเจ้าพัธยาได้ด้วย

    ทันทีที่ปฏิบัติการเสร็จ คณะนักวิจัยก็หันเรือกลับเข้าฝั่ง เพื่อตรวจสอบสัญญาณดาวเทียม ที่ติดตั้งไปกับวาฬบรูด้า ทั้ง 4 ตัว พบว่าสามารถรับสัญญาณจากเจ้าเมษาได้เพียงตัวเดียว เนื่องจากการรับสัญญาณแต่ละครั้งต้องมีความสอดคล้องของช่วงเวลาที่วาฬขึ้นมาเหนือผิวน้ำร่วมกับเวลาที่ดาวเทียมของ ARGOS ผ่านบริเวณนั้นๆ และสภาพอากาศจะต้องมีความเหมาะสม เช่น ปริมาณเมฆน้อย ภาพประกอบการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน

    "ตอนนี้เราก็พยายามจูนเครื่องมือเพื่อที่จะรับสัญญาณให้ได้ทั้งหมด สำหรับทิศทางการเคลื่อนที่เรามีแล้ว ตอนนี้กำลังรอตรวจสอบเรื่องสัญญาณเสียงอยู่ หากได้มา นักวิจัยก็จะนำไปแปรเปรียบเทียบกับการศึกษาเรื่องเสียงของวาฬที่เคยมีการศึกษามาแล้วในภูมิภาคอื่น ว่าลักษณะเสียงแบบนี้ แปลว่าอะไร เมื่อได้มาแล้ว เราจะรู้วิถีชีวิตของวาฬบรูด้าในอ่าวไทยมากขึ้น ถึงตอนนั้นจะถือเป็นความสำเร็จอย่างมากของนักวิจัยชาวไทย การดำเนินการครั้งนี้ ทช.ไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐเลย แต่อาศัยความคุ้นเคยส่วนตัวกับนักวิจัยของ ทช.ภาคเอกชน สนับสนุนเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม ส่วนตัวนักวิจัยชาวญี่ปุ่นก็มาร่วมงานโดยเขาออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด" นายเกษมสันต์กล่าว

    ตะลึง! “วาฬ” โผล่อวดโฉมว่ายน้ำผ่านเรือนักท่องเที่ยวใกล้เกาะ 8 สิมิลัน

    ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักท่องเที่ยวสุดตื่นเต้น! เจอวาฬขนาดใหญ่ว่ายน้ำใกล้เรือนักท่องเที่ยว ขณะเดินทางกลับจากหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา คาดว่ายน้ำตามฝูงปลาขนาดเล็กเข้ามาหากินในฝั่งอันดามัน นักวิชาการเผยยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวาฬชนิดใด แต่ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเคยเจอมาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่มาในช่วงปลายปีที่อาหารอุดมสมบูรณ์

    ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคณะนักท่องเที่ยวคนไทยว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.08 น. วานนี้ (11 พ.ย.) ขณะที่กำลังนั่งเรือเพื่อเดินทางกลับเข้าฝั่งที่จังหวัดภูเก็ต หลังเดินทางไปท่องเที่ยวที่หมู่เกาะสิมิลัน และเกาะต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง โดยขณะที่เรือแล่นอยู่ระหว่างเกาะสิมิลัน และเกาะ 8 พบว่า มีวาฬขนาดใหญ่ว่ายน้ำผ่านหน้าเรือ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพมาได้ส่วนหนึ่ง โดยขณะที่วาฬว่ายน้ำเข้ามาใกล้เรือนั้นเห็นเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวาฬบรูด้า

    เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวว่าเจอ “วาฬ” ขนาดใหญ่ขณะกำลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวที่หมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งช่วงที่วาฬว่ายน้ำเข้ามาใกล้เรือพบเพียง 1 ตัวเท่านั้น และจากรูปที่นักท่องเที่ยวส่งมาให้ดู ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวาฬชนิดใด

    ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 1-2 ปี ที่ผ่านมา ก็มีนักท่องเที่ยวพบเห็นวาฬขนาดใหญ่เข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าวดัวยเช่นกัน เชื่อว่าวาฬที่เจอน่าจะว่ายน้ำตามฝูงปลาซึ่งเป็นอาหารของวาฬเข้ามา เนื่องจากช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ปลาและกุ้งมีความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ที่นักท่องเที่ยวพบวาฬเข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าวจะอยู่ในช่วงปลายปีของทุกปี และโดยปกติวาฬจะหากินเป็นฝูง

    ปลาวาฬหัวทุยแคระ เกยตื้นหน้าหาดป่าตองกลับสู่ทะเล

    จากเหตุพบปลาวาฬขนาดใหญ่ว่ายเข้ามาใกล้ฝั่ง หน้าหาดป่าตอง ถ.ทวีวงศ์ ต.ป่าตองโดยบีชการ์ดและกลุ่มเจ็ตสกีได้ช่วยเหลือไว้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 56 เบื้องต้นพบว่าเป็นปลาวาฬหัวทุยแคระ เพศเมีย เป็นปลาวาฬวัยรุ่นที่ยังไม่โตเต็มวัย มีบาดแผลที่บริเวณหัวและปาก มีสภาพขาดความสมดุลในร่างกาย ว่ายน้ำเอียงไปเอียงมา จึงได้ประสานไปยังกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ตช่วยเหลือเป็นการด่วน โดยใช้เปลอุ้มปลาวาฬไว้ในทะเลพร้อมกับฉีดยาบำรุง-อาหารเสริมและยาปฏิชีวนะ เมื่อให้ยาทั้ง 3 ประเภทแล้ว สักพักปลาวาฬก็เริ่มมีแรงและว่ายน้ำได้ดีขึ้น จึงใช้เจ็ตสกี 2 ลำพยุงออกไปกลางอ่าวป่าตองแล้วปล่อยคืนสู่ทะเลลึก จากนั้นปลาวาฬได้ว่ายหายไปท่ามกลางเสียงตบมือจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่คอยลุ้นอยู่ริมฝั่งเป็นจำนวนมาก

    ด้านนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ตกล่าวว่าปลาวาฬดังกล่าวเป็นลูกวาฬอายุประมาณ 10 ปี ยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักราว 150 กก.คาดว่าอาจพลัดหลงฝูงและว่ายเข้ามาเกยตื้นบริเวณอ่าวป่าตอง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ให้ยาไป 3 ประเภท ทำให้ปลาวาฬสามารถว่ายน้ำออกทะเลลึกไปได้ ส่วนบาดแผลที่พบตามร่างกายนั้นคาดว่าอาจถูกเรือเฉี่ยวชน ทำให้มีบาดแผลและเสียการทรงตัว โดยเจ้าหน้าที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่ตามแนวชายฝั่ง เกรงว่าปลาวาฬตัวดังกล่าวอาจว่ายกลับเข้ามายังฝั่งอีก สำหรับปลาวาฬสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย โดยเฉพาะในฝั่งทะเลอันดามันพบเพียง 8 ตัว ตลอด 7 ครั้งที่ผ่านมา

    ลูกวาฬเกยตื้นที่ภูเก็ต นักวิชาการคาดป่วยตามฝูงไม่ทัน

    อาสาสมัครประจำหาดในยาง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ แจ้งเหตุพบซากลูกวาฬว่ายขึ้นมาตายที่ชายหาด โดยเป็นลูกวาฬเพชฌฆาตเทียม อายุ 1-2 เดือน เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุการตายมาจากอ่อนแอหรืออาจป่วยจนว่ายไม่ไหวและหลุดฝูง และพยายามว่ายเข้าฝั่งจนตายในที่สุด

    เมื่อเวลา 16.40 น.วันที่ 22 มิ.ย.ศูนย์กู้ชีพเมืองใหม่ มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตได้รับแจ้งจากอาสาสมัครประจำหาดในยาง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่าพบลูกวาฬว่ายขึ้นมาตายที่ชายหาด ขอให้ประสานสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ตรับซากกลับไปชันสูตรหาสาเหตุการตาย

    จากนั้น ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต พร้อมเจ้าหน้าที่รุดไปตรวจสอบ พบเป็นลูกวาฬเพชฌฆาตเทียม (False Killer Whale) แรกเกิด อายุระหว่าง 1-2 เดือนความยาว 170 ซม. เพศผู้ น้ำหนักราว 45 กก.สีดำสนิท โดยสายรกเพิ่งหลุดออกจากร่างกาย ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย เบื้องต้นคาดว่าลูกวาฬดังกล่าวเพิ่งคลอดออกมาเมื่อไม่นานนี้ แต่อ่อนแอ หรืออาจป่วย จนว่ายไม่ไหวและหลุดฝูง จากนั้นได้พยายามว่ายเข้าฝั่งจนตายในที่สุดจึงนำซากกลับไปผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

    หัวหน้ากลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนกล่าวว่า วาฬเพชฌฆาตเทียมเป็นวาฬไม่ประจำถิ่น จะอาศัยอยู่ในทะเลอันดามันและอ่าวไทย ส่วนจำนวนประชากรของวาฬดังกล่าวในทะเลอันดามันไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายถิ่นตลอดเวลา จะอยู่รวมกันเป็นฝูงๆ ละ20-30 ตัว ส่วนวาฬตัวนี้เป็นลูกวาฬที่เพิ่งเกิด เนื่องจากฟันยังไม่ทันจะงอกและรกเพิ่งจะหลุดออกจากตัว ส่วนสาเหตุการตายเบื้องต้นคาดว่าอาจเป็นเพราะร่างกายอ่อนแอ หรือ ป่วย

    ดร.ก้องเกียรติ กล่าวด้วยว่า เมื่อปลายเดือน มิ.ย.2008 หรือ 5 ปีที่แล้ว เคยเกิดปรากฎการณ์วาฬเพชฌฆาตเทียมนับสิบตัว หรือ ยกฝูงว่ายเกยชายหาด บนเกาะราชาใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งในครั้งนั้นเกิดจากจ่าฝูงนำฝูงผิดพลาด ประกอบกับคลื่นลมแรงเป็นช่วงมรสุม ทำให้วาฬเพชฌฆาตทั้งฝูงว่ายมาติดปากอ่าวแล้วออกไปไม่ได้ จึงต้องช่วยกันผลักดันกลับทะเลลึก

    นักท่องเที่ยวตื่น! วาฬหัวทุยแคระเกยตื้นชายหาดป่าตอง

    ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักท่องเที่ยวจำนวนมากตื่นเต้น ยืนมุงดูวาฬหัวทุยแคระขนาดใหญ่เกยตื้นชายหาดป่าตอง พบบาดแผลบริเวณหัวด้านหน้า และครีบด้านหลัง เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ เร่งฉีดยาฆ่าเชื้อพร้อมนำกลับสู่ทะเล ส่วนสาเหตุคาดเกิดจากอาการป่วย

    เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (1 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีวาฬเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดป่าตอง ตรงด้านหลังป้อมตำรวจหน้าซอยบางลา อำเภอกะทู้ จ.ภูเก็ต หลังรับแจ้ง ทางสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักประมงจังหวัดภูเก็ต จึงนำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณชายหาดป่าตอง พบชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากกำลังยืนมุงดูวาฬขนาดใหญ่เกยตื้นด้วยท่าทีที่ตื่นเต้น ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ ได้ลงตรวจสอบพบวาฬตัวดังกล่าว มีร่องรอยบาดแผลที่บริเวณหัวด้านหน้า และครีบด้านหลัง พร้อมกับแผลเริ่มเปื่อย ทางเจ้าหน้าที่จึงนำยาปฏิชีวนะ และยาบำรุงฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ก่อนที่จะช่วยกันนำวาฬขึ้นเปล จากนั้นจึงประคอง แล้วนำไปปล่อยผลักดันให้ออกสู่ทะเลตรงบริเวณปากอ่าวป่าตอง

    อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่และสัตว์แพทย์ ยังคงเฝ้าติดตามอยู่ที่บริเวณชายหาดดังกล่าวอีกสักระยะ เนื่องจากหากพบว่าวาฬตัวดังกล่าวว่ายกลับเข้าฝั่งก็จะนำขึ้นไปรักษาที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนต่อไป

    จากการสอบถาม นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดว่า วาฬตัวดังกล่าวเป็นวาฬหัวทุยแคระ มีความยาวประมาณ 2.40 เมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 150 กิโลกรัม ยังไม่สามารถระบุเพศได้ ส่วนสาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานว่า วาฬน่าจะมีอาการป่วย เพราะในขณะที่พบเห็นวาฬตัวนี้จะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งผิดปกติจากนิสัยของวาฬทั่วไปที่จะว่ายอยู่ในน้ำไม่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ประกอบกับบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะมาจากการแหวกว่ายไปกระแทกกับโขดหิน

    อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังตรงจุดเกิดเหตุอีกสักระยะ เนื่องจากชายหาดป่าตองเป็นแหล่งที่มีกิจกรรมของนักท่องเที่ยวมากมาย หากวาฬดังกล่าวลอยมาแถวนี้อาจก่อให้เกิดความเครียดแก่วาฬได้

    “ปกติมักจะพบวาฬหัวทุยแคระในทะเลลึก บริเวณไหล่ทวีป มีเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน และกินปลาหมึกเป็นอาหาร ส่วนวาฬชนิดนี้วัยโตเต็มที่มีขนาดอยู่ประมาณ 2.70 เมตร น้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม โดยในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา พบเป็นตัวที่ 7 แบ่งเป็นจังหวัดภูเก็ต 4 ตัว พังงา 1 ตัว สตูลอีก 2 ตัว หลังจากนี้ หากพบวาฬตังกล่าวได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำกลับขึ้นมารักษาที่ศูนย์ฯ ก่อนที่จะส่งกลับทะเลต่อไป” นายก้องเกียรติกล่าว

    วาฬเพชฌฆาต เกาะช้าง เสียชีวิต 2 ตัวแล้ว

    วาฬเพชฌฆาต ติดอวนบาดเจ็บ เกยตื้นเกาะช้าง เสียชีวิต 2 ตัวแล้ว หลังทีมสัตวแพทย์รักษายื้อชีวิตมาได้ 43 วัน

    นายวุฒิพงศ์ อุ้ยอลงกรณ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ กช.3 บ้านสลักเพชร ต.เกาะช้างใต้ จ.ตราด ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานฯ ที่คอยช่วยเหลือทีมสัตวแพทย์ ว่า วาฬเพชฌฆาตตัวใหญ่ ที่ได้รับบาดเจ็บ และอาการทรงตัวติดต่อกันมาหลายวันนั้น ได้เสียชีวิตลงแล้ว

    ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 56 ชาวประมงพื้นบ้านได้พบวาฬบาดเจ็บ ซึ่งมีบาดแผลทั้งตัว น่าจะมาจากการติดอวนเรือประมงทั้ง 2 ตัว ได้ว่ายมาเกยตื้น ที่ชายหาดบ้านเจ๊กแบ้ ต.เกาะช้างใต้ และทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ได้นำวาฬทั้ง 2 ตัวขึ้นมาทำการรักษาในรีสอร์ทมหาจักร โดยมีทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง และทีมสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอยดูแล

    ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 56 ที่ผ่านมา วาฬเพชฌฆาตตัวเล็ก ที่มีอาการบาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถกินอาหารเองได้ต้องป้อนอาหารเหลวตลอดเวลาได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว 1 ตัว หลังทีมสัตวแพทย์ทำการรักษามาได้ 20 วัน จากการผ่าพิสูจน์ของทีมสัตวแพทย์ พบว่ากล้ามเนื้อภายในของวาฬตัวเล็กนั้น อักเสบรุนแรง ทำให้ลำตัวนั้นบวมอาจทนเจ็บปวดไม่ไหวจึงได้เสียชีวิต ในส่วนอาการของวาฬตัวใหญ่ที่บางช่วงเริ่มแข็งแรง หลายฝ่ายที่ได้ติดตามดูอาการ ต่างคาดหวังว่าน่าจะมีชีวิตรอดได้ แต่สุดท้ายก็ทนบาดเจ็บไม่ไหว มีชีวิตอยู่ได้เพียง 43 วัน

    สลด ซาก “วาฬบรูด้า” เกยหาดชุมพร

    วันที่ 25 มีนาคม 2556 พบลูกวาฬบรูด้า ยาว 4 เมตร หนักกว่า 1 ตันตายเกยตื้น บริเวณชายฝั่งตำบลท่าหิน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

    ชาวประมงในพื้นที่บ้านเขาหัวทาง ตำบลท่าหิน อ.สวี จ.ชุมพร แจ้งว่าพบซากวาฬบรูด้าเพศเมีย ขนาดลำตัวยาว 4 เมตร หนักกว่า 1 ตันถูกคลื่นซัดขึ้นมาใกล้ฝั่งจึงช่วยกันลากเข้ามาที่ชายหาดจากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จ.ชุมพร จึงได้ไปตรวจสอบพบว่าน่าจะมีอายุประมาณ 1 ปีเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตายยังไม่ทราบแน่ชัด จึงได้นำรถเครนมายกซากขึ้นรถบรรทุก 6 ล้อแล้วนำไปยังศูนย์วิจัยฯ เพื่อรอผ่าชันสูตรซากตรวจสอบหาสาเหตุการตายต่อไป

    สัตวแพทย์ระบุโลมาที่พบบาดเจ็บ 2 ตัว เป็นลูกวาฬเพชฌฆาต

    ตราด - สัตวแพทย์ระบุโลมาที่พบบาดเจ็บ 2 ตัว เป็นลูกวาฬเพชฌฆาต ชี้ครีบใหญ่ และสูง คาดถูกทำร้ายแล้วว่ายเข้าหาฝั่ง เผยไม่ค่อยพบเห็นในอ่าวไทย

    วันนี้ (19 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพบโลมา 2 ตัว ลักษณะคล้ายโลมาอิรวดี ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการติดอวน ว่ายเข้ามาใกล้ชายฝั่งที่บริเวณชายหาดบ้านเจ๊กแบ้ หมู่ 3 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง พร้อมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะช้างใต้ นำมาอนุบาลใว้ในบ่อเลี้ยงปลาของรีสอร์ตมหาจักรซึ่งเป็นของเอกชนนั้น

    ล่าสุด นายสัตวแพทย์วิสาร ตระกูลรังสี เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทีมงานมาทำการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ตัว เป็นลูกวาฬเพชฌฆาต สังเกตจากครีบบนหลังใหญ่ และแหลมกว่าโลมา หางยาวเรียว มีฟันแหลมคม ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็คล้ายกับโลมาอิรวดี

    ส่วนอาการในเบื้องต้นของวาฬทั้ง 2 ตัว ยังน่าเป็นห่วงอยู่ 1 ตัว ที่ต้องเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพราะไม่สามารถว่ายน้ำเองได้ ตัวที่ใหญ่กว่ายังดิ้นบ้าง และกินอาหารที่เจ้าหน้าที่นำมาป้อนให้ ส่วนอีกตัวนิ่งซึม ไม่ดิ้น ไม่กินอาหาร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้นำผ้ามาห่อหุ้มที่บริเวณลำตัวที่มีบาดแผล พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวะนะ ยาฆ่าเชื้อ ยากันช็อก ซึ่งช่วง 2-3 วันนี้จะยังไม่เคลื่อนย้ายลูกวาฬทั้ง 2 ตัวไปไหน จะทำการรักษาอยู่ที่เดิมไปก่อน

    “ปกติแล้ววาฬชนิดนี้จะไม่พบเห็นในอ่าวตราด ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในทะเลลึก ถ้าไม่ได้รับบาดเจ็บคงจะไม่ว่ายเข้ามาใกล้ชายฝั่ง

    ด้านนายกฤตยช ชำนาญช่าง หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที 1 จ.ระยอง กล่าวว่า ลูกวาฬเพชฌฆาตที่พบเห็นในอ่าวไทยจะไม่ทำร้ายคน และมักจะไม่หากินตามตามชายฝั่ง หากไม่ได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยจะไม่เข้าใกล้ชายฝั่ง หรืออีกกรณีหนึ่งคือ หลงฝูงเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งทะเลตราด ที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ และอาจถูกทำร้ายก็เป็นไปได้

    พบวาฬสีน้ำเงินครั้งแรกในไทย ติดแอ่งหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง

    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับวาฬที่ว่ายเข้ามาติดแอ่งบริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ว่านักวิชาการได้สรุปและยืนยันแล้วว่าวาฬที่พบ เป็น Blue whale (Balaenoptera musculus) หรือ วาฬสีน้ำเงิน ซึ่งนับเป็นการพบครั้งแรกในน่านน้ำของประเทศไทย

    โดยก่อนหน้านี้ ดร Kongkiat Kittiwatanawong นักวิชาการกรม ทช. ได้ให้ข้อสังเกตว่า วาฬที่พบน่าจะมีความยาวไม่น้อยกว่า ๑๕ เมตร ลักษณะครีบหลังสั้น มีลายประขาวบนลำตัว จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น Blue whale (Balaenoptera musculus)

    ชาวบ้านต้องรอน้ำขึ้น จึงช่วยกันต้อนปลาวาฬที่ว่ายน้ำเข้ามาติดแอ่งหน้าเขาบาตูปูเต๊ะของเกาะลิบงลงน้ำไปได้ แต่ได้รับบาดเจ็บตามลำตัวหลายแผล

    ทั้งนี้ได้ปรากฏข่าวการพบวาฬว่ายน้ำเข้ามาติดแอ่งเมื่อเวลา 12.30 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2556 โดยผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายพงษ์ศักดิ์ นิธิกรกุล เจ้าพนักงานประมงชำนาญการ หัวหน้างานชุมชนสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลอันดามัน ว่า มีชาวบ้านพบปลาวาฬฟินว่ายน้ำเข้ามาติดแอ่ง บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฯ โดยใช้เรือยางเป็นพาหนะ พร้อมอุปกรณ์ในการช่วยเหลือทางทะเล เมื่อไปถึงพบว่าชาวประมงพื้นบ้านกำลังใช้เรือหางยาว จำนวน 2 ลำ เพื่อขับต้อนปลาวาฬตัวดังกล่าว ที่ดิ้นรนหาทางออกอยู่ในน้ำที่ลึกเพียงประมาณ 1 เมตร บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะของเกาะลิบง โดยคาดว่าปลาวาฬตัวดังกล่าวคงจะว่ายน้ำเพลินจนเข้าใกล้ฝั่งในช่วงน้ำขึ้น แต่เมื่อน้ำลงก็ไม่สามารถว่ายน้ำลงกลับได้ทัน ทั้งนี้พบว่า ปลาวาฬตัวดังกล่าวเป็นปลาวาฬฟิน ตัวสีดำ ความยาวลำตัวประมาณ 10 เมตร น้ำหนักประมาณ 2 ตัน และในช่วงจังหวะที่ปลาวาฬกำลังดิ้นรนไปมาในน้ำ ก็ทำให้เกิดมีบาดแผลบาดเจ็บจากการถูกโขดหินไปทั่วตัว เช่น บริเวณหน้าอก ใต้ท้อง ส่วนหาง และช่วงบริเวณข้างลำตัว นอกจากนี้ก็ยังพบมีเหาวาฬเกาะกินเต็มไปหมดอีกด้วย

    ทั้งนี้ชาวบ้านต้องใช้เวลาในการช่วยเหลือปลาวาฬอยู่นานประมาณ 3 ชั่วโมง เนื่องจากต้องรอให้น้ำขึ้นเต็มที่ เพื่อให้ปลาวาฬสามารถที่จะว่ายน้ำออกไปได้ จนในที่สุดก็สามารถช่วยได้สำเร็จ ท่ามกลางความดีใจของชาวบ้านที่ช่วยกันต้อน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาลุ้นเชียร์ตลอดแนวเกาะ

    อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ฯและชาวบ้านต่างก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาดูแลฝูงปลาวาฬดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนเหลืออยู่น้อยมากในทะเลตรัง เพื่อเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมปลาวาฬและสัตว์ทะเลหายากในทะเลตรัง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังอีกด้วย.

    ฝูงวาฬบรูด้า หนีน้ำเสียเข้ามาหากินในแถบน่านน้ำแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี

    ภายหลังจากที่ชาวประมงชายฝั่งพบวาฬบรูด้าจำนวนหลายตัวเข้ามาหากินฝูงปลากะตักจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยกินแพลงตอนในน่านน้ำบริเวณแหลมผักเบี้ย อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อหลายวันมาแล้ว

    ผู้สื่อข่าวและนักถ่ายภาพอิสระจำนวนหนึ่งจึงได้ติดตามไปบันทึกภาพถึงกลางทะเลเมื่อ 7 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา โดยอาศัยเรือประมงขนาดกลางออกตระเวนหาจากท่าเทียบเรือคลองแหลมผักเบี้ย มุ่งหน้าออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7-8 กม. ด้านทิศใต้ของแท่นส่งน้ำมัน ก็พบวาฬบรูด้าจำนวน 3-5 ตัว เป็นวาฬขนาดโตเต็มวัยและขนาดกลางไล่ต้อนฝูงปลากะตัก ก่อนขึ้นฮุบกินอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบโลมาหัวบาตร 2-3 ตัวว่ายน้ำหากินตามอยู่ห่างๆ ก่อนที่ทั้งหมดจะจากไป

    นายอาคเนย์ กายสอน นักสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบุรี ได้อธิบายว่า ในช่วงนี้มีน้ำเสียปะปนอยู่มากแถบน่านน้ำสมุทรปราการ บางขุนเทียน ตลอดจนแม่กลอง ทำให้ฝูงปลากะตักเข้ามาหากินกันมากแถบปากอ่าวบางตะบูน จนถึงแหลมผักเบี้ย ฝูงวาฬบรูด้าจึงตามเข้ามาหากินในแถบนี้อยู่เป็นประจำ โดยคาดว่าจะยังคงหากินอยู่ในถิ่นนี้อีกเป็นระยะเวลานาน และเชื่อว่าฝูงวาฬบรูด้านี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาลงเรือเพื่อออกไปชมเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับเมื่อปี 2553 ที่มีฝูงวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในแถบนี้นานถึง 3 เดือนเต็มๆ

    ด้านนางนงนิตย์ เต็งมณี ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเพชรบุรีระบุว่าทางสำนักงานฯได้จัดให้มีการฝึกอบรมการเป็นมัคคุเทศก์แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตลอดจนชาวประมงที่มีเรือรับจ้างนำนักท่องเที่ยวออกไปชมวาฬบรูด้า เพื่อให้การออกเรือนำนักท่องเที่ยวไปชมวาฬบรูด้าเป็นไปอย่างเป็นระบบ และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยวและวาฬบรูด้า ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนนี้ไปจนถึงเดือนหน้าจะมีเงินไหลสะพัดจากการท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี นับร้อยล้านบาท

    ทั้งนี้ วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ห้ามค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของไทย และเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ทางสำนักงานฯ จึงได้จัดทำแผ่นโบรชัวร์แจกจ่ายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการออกไปชมวาฬได้อย่างถูกต้องและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เป็นสำคัญ

    จุดเด่นของวาฬบรูด้า คือ ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง และเวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน 3 สันด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจได้อย่างชัดเจน ในขณะที่วาฬชนิดอื่นๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจโผล่หัวขึ้นเหนือผิวน้ำเล็กน้อย และเห็นน้ำพุที่หายใจออกมาสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา แล้วทิ้งตัวจมหายไป ไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาให้เห็น

    วาฬบรูด้า เป็นวาฬชนิดไม่มีฟันแต่มีบาลีนเป็นแผ่นกรองคล้ายหวีสีเทา 250-370 ซี่ ใช้กรองแพลงก์ตอน และฝูงปลาเล็กปลาน้อย ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ 40-70 ร่อง ซึ่งพาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ เมื่อโตเต็มที่จะยาว 14-15.5 เมตร หนัก 20-25 ตัน พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล

    พบซากวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ถูกคลื่นซัดติดโขดหินเกยชายหาดชุมพร

    เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 นายศุภวัตร กาญจน์อดิเรกลาภ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร ได้รับแจ้งจาก นายสมนึก พรหมสอน นักวิชาการศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ประมงชายฝั่ง จ.ชุมพร ว่ามีผู้พบซากวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ลอยมาเกยหาดในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.ชุมโค อ.ปะทิว จึงสั่งการให้ นายอติชาต อินทองคำ นักวิชาการประมงชำนาญการ นำเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบ พบซากวาฬบรูด้า ถูกคลื่นซัดมาติดโขดหินติดชายหาดหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร วัดความยาวของลำตัวจากหัวถึงหางได้ 15 เมตร เป็นวาฬบรูด้าเต็มวัย แต่ไม่สามารถแยกเพศได้ เนื่องจากซากอยู่ในสภาพเน่าเปื่อย คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 วัน ก่อนถูกคลื่นซัดเข้าสู่ฝั่ง เนื่องจากช่วงนี้มีคลื่นลมแรงในทะเล

    จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันเก็บตัวอย่างกระดูก ชิ้นเนื้อ และหนัง เพื่อนำไปตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนซากของวาฬบรูด้าที่เหลือได้ขอความร่วมมือผู้นำชุมชนให้ช่วยหาทางฝั่งกลบเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน

    จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร พบว่า วาฬบรูด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์เลือดอุ่น มีลักษณะลำตัวสีเทาดำ รูปร่างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กปลายแหลม ใต้คางมีร่องเห็นได้ชัดเจนขณะไล่จับสัตว์น้ำ ตัวเต็มวัยมีความยาวลำตัวประมาณ 14-15 เมตร หนักประมาณ 20 ตัน มักหากินห่างฝั่งประมาณ 5-20 กิโลเมตร อาหารสำคัญของวาฬบรูด้าคือปลากะตัก ในบางปีวาฬบรูด้าจะเข้าไปหาอาหารถึงอ่าวไทยตอนในใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งที่พบบ่อยคือ ใกล้ทะเลบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์

    วาฬหัวทุยหนัก 6 ตันเกยตื้นหาดพังงา เร่งหาสาเหตุ

    พบซากวาฬขนาดยักษ์ขนาดความยาว 9 เมตร น้ำหนัก 5-6 ตัน นอนเกยชายหาดบางสักตายปริศนาใน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา คาดเป็นวาฬเพชฌฆาตเทียม หรือวาฬหัวทุย ตายมาแล้ว 4 วัน เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างเพื่อเร่งหาสาเหตุ

    เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 22 ส.ค. 55 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างเมฆาคึกคัก กู้ภัยปากวีป ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบซากวาฬเกยตื้นที่บริเวณชายหาดหน้าโรงแรม รอยัล บางสัก บีชรีสอร์ท หมู่ที่ 8 บ้านบางสัก ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมทีมงานได้มาตรวจสอบที่บริเวณชายหาดบางสัก คาดว่าน่าจะเป็นวาฬหัวทุนหรือวาฬเพชฌฆาตเทียม นอนเกยหาดขนาดความยาว 9 เมตร น้ำหนัก 5-6 ตัน คาดว่าเสียชีวิตได้ประมาณ 4 วัน ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วบริเวณชายหาด มีชาวบ้านมามุงดูกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงนี้พื้นที่จังหวัดพังงาเกิดคลื่นลมแรง อาจจะส่งผลทำให้ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยฝั่งอย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ประสานไปยังสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนภูเก็ต เพื่อเข้ามาตรวจสอบถึงสาเหตุการตายของปลาวาฬต่อไป

    ทางด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาทะเล สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนภูเก็ต กล่าวว่า ส่วนมากปลาวาฬพันธุ์หัวทุยหรือปลาวาฬเพชฌฆาตเทียมจะอาศัยในทะเลน้ำลึก แถบบริเวณเกาะสิมิลัน เป็นสัตว์ชนิดชอบกินปลาหมึกเป็นอาหาร ส่วนสาเหตุการตายของปลาวาฬนั้น น่าจะเกิดจากการป่วยของปลาวาฬและถูกคลื่นพัดพามาเกยตื้นแถวบริเวณชายหาดดังกล่าว หลังจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ได้ตัดเนื้อของวาฬดังกล่าวเพื่อไปตรวจหาสาเหตุการตายว่าเกิดจากสาเหตุอะไรอีกครั้ง

    กทม.เมืองหลวงหนึ่งเดียวในโลก มีฝูงบรูด้า เร่งต่อยอดศึกษา-ท่องเที่ยว

    นักวิชาการประมงฯ เผยกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงหนึ่งเดียวในโลกที่มีฝูงบรูด้า เตือนผู้เช่าเรือชมดับเครื่องยนต์เมื่อถึงจุดดู และห้ามให้อาหาร นักวิชาการแนะเร่งต่อยอดศึกษาและท่องเที่ยว

    วันที่ 17 ก.ค. กรณีที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สำรวจวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทย ตอนในหรืออ่าวไทยรูปตัว ก และเป็นที่น่ายินดีว่า พบวาฬบรูด้ามากถึง 30 ตัว ว่ายตามอาหารหรือฝูงปลากะตัก มาอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตรนั้น น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน (ทช.) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องวาฬและโลมา กล่าวว่า ในช่วงที่นักวิจัยออกสำรวจ บรูด้า ที่ว่ายน้ำตามฝูงปลากะตักเข้ามาในบริเวณใกล้ชายฝั่งปากแม่น้ำเจ้าพระยานั้น วันที่เจอบรูด้ามากที่สุดคือ 16 ตัว ที่น่าสนใจคือ แต่ละตัวมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป เช่นการผสมพันธุ์และการเลี้ยงลูก พบว่า บางตัวสามารถตั้งท้องได้ทันที หลังจากลูกตัวล่าสุดผละจากอก ออกไปหากินได้เอง โดยบรูด้าจะเลี้ยงลูกอยู่ประมาณ 6-12 เดือน หรือมากกว่านั้น

    “เช่นเจ้าส้มตำ ลูกบรูด้าที่มีชื่อ ข้าวเหนียว เราเจอเมื่อปีก่อน ตอนที่แม่ข้าวเหนียวเพิ่งคลอดออกมาใหม่ๆ เห็นไม่กี่ครั้ง แล้วก็หายไปเลยเป็นปี แล้วมาเจออีกครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงว่าเขาไม่ได้ไปไหนเลย ว่ายวนเวียนอยู่แถวนี้ และที่น่าตื่นเต้นยินดีอีกอย่างคือ เราพบว่ามีบรูด้าแม่ลูกที่ว่ายน้ำอยู่ด้วยกันตลอดเวลาถึง 7 คู่ด้วยกัน โดยลูกบรูด้าที่ว่ายตามแม่นั้นตัวเล็กที่สุดยาวประมาณ 4 เมตร หนักราว 900 กิโลกรัม และเรากำลังพยายามดูว่าในบรรดา บรูด้าที่เจอทั้งหมดนั้นมีตัวไหนที่กำลังตั้งท้องอยู่บ้าง” น.ส.กาญจนา กล่าว

    น.ส.กาญจนากล่าวอีกว่า ตอนนี้กระแสเรื่องการไปดูบรูด้าเงียบๆ ไป เพราะฝนมักจะตกและอากาศแปรปรวน ไม่ค่อยมีเรือรับจ้างออกไปกลางทะเลมากนัก เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ถือเป็นเรื่องดี เพราะวาฬจะไม่ถูกรบกวน หากมีก็มักจะออกไปดูช่วงก่อนบ่าย เรื่องที่น่าห่วงสำหรับการไปดูบรูด้าคือ หลายคนอยากไปถ่ายรูปใกล้ๆ จะบอกให้คนขับเรือ ขับเรือตาม ซึ่งเป็นอันตรายกับบรูด้ามาก นอกจากนี้ลูกบรูด้าบางตัวเช่นเจ้าบันเทิง จะซนและอยากรู้อยากเห็นมา จะชอบว่ายน้ำลอดท้องเรือและว่ายเข้ามาใกล้ หากไม่ดับเครื่องเรือ ใบพัดจะไปทำอันตรายกับพวกมันได้ คนที่ไปดูต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก

    ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่บรูด้าว่ายน้ำเข้ามาทะเลกรุงเทพไม่ใช่ปรากฏการณ์ประหลาด หรือบ่งบอกถึงความร้ายแรงอะไร แต่พวกมันตามฝูงปลากะตักที่เป็นอาหารมาเท่านั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก เพราะในโลกนี้ไม่เคยมีทะเลเมืองหลวงขนาดใหญ่ที่ไหน ที่มีฝูงบรูด้าจำนวนมากขนาดนี้ ว่ายน้ำเข้ามาใช้ชีวิต กินอาหารและผสมพันธุ์มาก่อน กทม.ถือเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ ถือว่าน่ายินดีมาก

    “แต่ก็น่าเสียดายที่เราน่าจะเอาโอกาสนี้ต่อยอดในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการท่องเที่ยวแต่ก็ไม่เห็นมีใครทำอะไร หลายประเทศ บรูด้าเข้าไปเพียง 4-5 ตัว เขาทำธุรกิจเอาเฮลิคอปเตอร์บินดู หรือไม่ก็เอาเรือออกไปดู พร้อมให้ความรู้ประชาชนในประเทศ พร้อมทั้งรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกันอย่างคึกคัก แต่ของเราไม่เห็นมีใครทำอะไรน่าเสียดายโอกาสมาก” นายธรณ์ กล่าว

    ด้านนายบุญชอบ สุทธมนัสวงศ์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่อยากให้เรื่องนี้กระจายออกไปมาก เพราะกลัวว่าคนจะแห่กันไปดูและจะรบกวนการใช้ชีวิตของบรูด้า ยอมรับว่ายังมีหลายคนที่ไปดูแล้วมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และ ทช.เองก็ควบคุมได้ไม่ทั่วถึง

    “ยิ่งเขาอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ยิ่งอาจจะต้องเจอกับเรือที่สัญจรทางทะเลมาก หากไปเพิ่มปริมาณเรือท่องเที่ยวเข้าไปอีก เกรงว่าจะเกิดอันตรายกับพวกเขาได้ ตอนนี้ ทช.กำลังเร่งหามาตรการเพื่อดูแลฝูงบรูด้านี้อยู่ เพราะคาดว่าหลังออกมาเป็นข่าวแล้ว จะมีประชาชนสนใจไปดูกันเยอะ แต่สิ่งที่จะขอความร่วมมือคือ อย่าเข้าใกล้มากเกินไป และจะต้องดับเครื่องยนต์เมื่อถึงจุดที่ดูแล้ว รวมทั้งต้องไม่ให้อาหารบรูด้าอย่างเด็ดขาด” อธิบดี ทช.กล่าว

    พบ “วาฬบรูด้า” ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างฝั่ง 5 กม.

    ทช.ระบุว่าพบวาฬบรูด้าใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะห่างฝั่งเพียง 5 กม. อีกทั้งจากการสำรวจยังพบมีจำนวนมากขึ้น เตือนชาวประมงระมัดระวังพร้อมแจ้งพิกัด

    เมื่อวันที่ 16 ก.ค.นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการสำรวจการแพร่กระจายของวาฬบรูด้า บริเวณอ่าวไทยตอนในหรือ อ่าวไทยรูปตัว ก อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบวาฬบรูด้าหากินอยู่ในอ่าวไทยตลอดทั้งปี โดยระยะเวลาที่พบจำนวนมากที่สุด อยู่ระหว่างเดือน เม.ย.ถึง ต.ค.ของทุกปี

    วาฬบรูด้า แม้จะตัวใหญ่มากมีความยาวลำตัวประมาณ 14-15 เมตรและน้ำหนักตัว 20 ตัน ปกติจะกินอยู่ใกล้ชายฝั่งอยู่ห่างฝั่งประมาณ 4-20 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 4-10 เมตรอาหารสำคัญของวาฬบรูด้าคือปลากะตัก

    อธิบดี ทช.กล่าวต่อว่าในปี 2555 นี้ ทช.ได้สำรวจพบวาฬบรูด้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีและพบวาฬบรูด้าจำนวนมากที่สุด จากการสำรวจระหว่างวันที่ 8-13 ก.ค. 2555 บริเวณอ่าวไทยตอนใน การสำรวจประชากรและศึกษาพฤติกรรมโดยวิธี Photo ID ใช้ตำหนิต่างๆบนลำตัว หัว และในปาก โดยเฉพาะตำหนิสำคัญที่ครีบหลังในการจำแนกความแตกต่างและระบุอัตลักษณ์ของแต่ละตัว ในเดือนกรกฎาคมนี้ พบวาฬบรูด้าทั้งหมดจำนวน 30 ตัว เป็นตัวที่เคยพบและตั้งชื่อให้แล้ว 20 ตัว และตัวใหม่อีก 10 ตัว วาฬหลายตัวในจำนวนนี้หากินประจำถิ่นในอ่าวไทยมานานอย่างน้อย 4-5 ปีแล้ว บางตัวพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551

    นายบุญชอบ กล่าวอีกว่า ในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่พบฝูงวาฬบรูด้าหากินอยู่ใกล้ชายฝั่งของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะห่างฝั่งเพียง 5 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการพัฒนาชายฝั่งไปอย่างมาก และมีกิจกรรมต่างๆ มากมายตลอดเวลาก็ตาม ทั้งการประมงและการคมนาคมขนส่งทางทะเล แต่บริเวณดังกล่าวก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และอาหารของวาฬ บรูด้า ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดสำคัญของอ่าวไทยตอนในได้แก่ วาฬบรูด้า และโลมาอิรวดี

    อย่างไรก็ตาม ทช.ขอความร่วมมือมายังพี่น้องชายฝั่งทะเล ชาวประมง รวมทั้งผู้เดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สัญจรไปมาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดให้ความระมัดระวังฝูงวาฬบรูด้า ที่กำลังหากินอยู่ในขณะนี้ และสามารถแจ้งพิกัดการพบเห็นวาฬได้โดยตรงกับ ทช.

    ผันน้ำท่วมลงทะเล ห่วง “โลมา-วาฬ”

    29 ก.พ.2555 นางนฤมล กรคณิตนันท์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากการผันน้ำจำนวนมากจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ออกสู่ทะเลช่วงที่ผ่านมาว่า ทาง ทช.ได้สำรวจศึกษาผลกระทบเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศวิทยาในพื้นที่ชายฝั่งและอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าผลกระทบของน้ำจืดปริมาณมากมีผลต่อสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เช่น ปลายชายฝั่ง หอยแครง หอยหลอด และสัตว์หน้าดิน ตลอดจนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ได้แก่ การเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ และหอยนางรม และอาจจะมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก อาทิ โลมา และวาฬ ดังนั้นจึงได้วางแผนติดตามสถานภาพสัตว์ทะเลหายากทุกเดือน เพื่อประเมินผลกระทบ โดยเฉพาะประสานให้ศูนย์วิจัยอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนกลาง และอ่าวไทยตอนล่าง สำรวจโลมาแะวาฬ ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง

    ฝูงวาฬเพชฌฆาตร่วม30ตัว โผล่เกยตื้นเกาะราชา

    เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา ทรัพยากรชายทะเลและป่าชายเลนฯ พร้อมนักท่องเที่ยวช่วยกันกู้ชีวิตวาฬ หลังเกยตื้นกว่า 40 ตัว ที่บริเวณเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบล่าสุดตายแล้ว 1 ตัว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 มิ.ย.

    เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายทะเลและป่าชายเลน ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบนเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า มีวาฬมาเกยตื้นบริเวณชายหาดเกาะราชาจำนวน 20-30 ตัว หลังได้รับแจ้ง นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้ส่งสัตวแพทย์และนักวิชาการลงไปในพื้นที่กู้ชีวิตทันที

    นายวรรณเกียรติ กล่าว ว่า เบื้องต้นพบว่าวาฬดังกล่าว เป็นวาฬเพชฌฆาตเทียม ปกติจะอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึก การเข้ามาเกยตื้นในครั้งนี้เนื่องจากตัวนำฝูงอาจจะนำทางผิดพลาด เพราะในทะเลมีคลื่นลมแรง เมื่อเข้ามาในอ่าวที่เป็นช่องแคบทำให้ไม่สามารถกลับตัวได้ ด้วยมีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ ทั้งยังมีความยาวตัวละประมาณ 3-4 เมตร

    "การ เข้ามาของฝูงวาฬเพชฌฆาตเทียมเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติเพราะด้านนอกคลื่นลมแรง สัตว์ชนิดนี้จะมีสัญชาตญาณสูง จึงได้พากันหาที่หลบคลื่นลม ที่ผ่านมาก็เคยเจอแต่ไม่มากถึงขนาดนี้ เท่าที่เจ้าหน้าที่ประเมินน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ตัว แต่เหตุที่ชาวบ้านเห็นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งจะมีการว่ายน้ำอยู่หน้าอ่าวด้วย" นายวรรณเกียรติระบุ

    นายวรรณเกียรติ กล่าว ว่า หลังจากเดินทางไปถึงที่เกาะดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. ปรากฏว่าชาวบ้านได้ช่วยเหลือผลักดันวาฬบางตัวจนออกไปในทะเลได้แล้ว และได้เคลื่อนย้ายวาฬ 6 ตัว ไปยังอ่าวฝั่งตรงข้ามที่มีคลื่นลมสงบ จากการตรวจสอบสภาพร่างกายมี 1-2 ตัวที่มีอาการบาดเจ็บจากการที่ถูกกระแทก แต่ไม่พบอาการเจ็บป่วย จึงทำให้เชื่อได้ว่าวาฬเหล่านี้ต้องการเข้ามาหลบคลื่นลมแรง ล่าสุดเบื้องต้นตายแล้ว 1 ตัว

    พร้อมยืนยันว่า การเข้ามาของวาฬฝูงนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าจะเกิดเหตุร้ายแต่อย่างใด เพราะจากการตรวจสอบไม่พบอาการเจ็บป่วย มีเพียงอาการบาดเจ็บ เนื่องมาจากช่วงนี้คลื่นลมแรง จนทำให้ต้องหาที่หลบเพราะไม่สามารถประคองตัวอยู่ได้

    ขณะที่ นายดนัย ภู่เจริญ ผู้บริหารโรงแรมเดอะราชา ซึ่ง ตั้งอยู่บนเกาะราชา เล่าให้ฟังว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมามีพนักงานแจ้งว่าเห็นปลาขนาดใหญ่ประมาณ 20-30 ตัว มาเกยตื้นบริเวณหน้าหาด จึงได้ร่วมกับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านช่วยกันดันลงน้ำ แต่ปรากฏว่าไม่ยอมไป และกลับขึ้นมาอีก จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ กระทั่งได้เข้ามาช่วยเหลือย้ายไปยังอ่าวอีกด้าน ซึ่งคลื่นลมค่อนข้างสงบ

    นายดนัย กล่าวด้วยว่า จากที่สอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นวาฬชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นจำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุคิดว่าน่าจะมาจากคลื่นลมแรง และต้องการมาหาที่หลบคลื่นลมมากกว่า

    อึ้ง! วาฬตาย เพราะกินถุงพลาสติก นำกระดูกจัดระลึก

    นำกระดูก "วาฬหัวทุยแคระ" เหยื่อขยะพลาสติก จัดแสดงให้ความรู้ ถึงประวัติความเป็นมา สาเหตุการตาย ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล พร้อมทั้งตั้งชื่อ "ยะหยา" เป็นที่ระลึก ชี้เป็นบทเรียนแม้เป็นสัตว์อยู่ท้องทะเลลึก แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์ ขณะที่สัตวแพทย์ชี้ นอก จากวาฬยังมี "เต่าทะเล" ตกเป็นเหยื่อ ใน 1 ปีมาเกยตื้นตาย 20-30 ตัว ครึ่งหนึ่งกินพลาสติก เพราะเข้าใจว่าเป็นแมงกะพรุน ก่อนตายจะเจ็บปวดทรมานมาก กระเพาะไม่ย่อย อ้วก หมดแรงกระทั่งตาย

    จากเหตุการณ์สลด "วาฬหัวทุยแคระ" เพศเมีย ลำตัวยาวกว่า 2 เมตร หนักเกือบร้อยกิโลฯ ว่ายมาเกยตื้นที่ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ตรวจสอบเบื้องต้นมีบาดแผลเต็มตัว อยู่ในสภาพใกล้ตาย สัตวแพทย์ฉีดยากันช็อกระหว่างเคลื่อนย้ายไปรักษา แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ตายระหว่างทาง เมื่อผ่าท้องและกระเพาะถึงกับผงะ มีขยะพลาสติกเต็มท้อง คาดเป็นสาเหตุทำให้ไม่ย่อยและขับถ่ายระบายออกมาไม่ได้ ทางนักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเลวอนนักท่องเที่ยวอย่าทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล หวั่นวาฬและสัตว์น้ำอื่นกินตายอีก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

    ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจ และดูแลทะเลโดยไม่ทิ้งขยะลงทะเล นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเก็บขยะในทะเลอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะท้องทะเลกว้างใหญ่มาก จากกรณีของวาฬหัวทุยแคระน่าจะบ่งบอกได้ว่าปัจจุบันขยะไม่ได้มีอยู่แค่ชาย ฝั่งเท่านั้น แต่ลุกลามออกไปไกลในท้องทะเลลึก เพราะปกติวาฬจะไม่ว่ายเข้ามาใกล้ฝั่ง อยู่ในท้องทะเลที่ไกลออกไป

    อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวต่อว่ากรณีนี้จึงน่าเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกฝ่ายหันมาช่วยกันรณรงค์ดูแลท้องทะเลมากขึ้น เพราะ ขณะนี้ไม่เพียงแต่สิ่งที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้สภาพท้องทะเลเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกันคือพยายามดูแลรักษาท้องทะเลอย่างดีที่สุด ไม่ทำลายด้วยการทิ้งขยะลงไป แม้จะเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ส่งผลกระทบได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. เป็นวันทะเลโลก หรือWorld Ocean day การตายของวาฬหัวทุยแคระน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ตระหนัก และช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลให้มากขึ้น

    ด้าน น.สพ.สนธยา มานะวัฒนา สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ชันสูตร ซากวาฬที่ตายเรียบร้อยแล้ว พบว่าสาเหตุน่าจะมาจากภาวะอุดตันของกระเพาะอาหาร ที่มีเศษขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันจำนวนมาก ทำให้กระเพาะอักเสบ เป็นแผลหลุม และปื้นเลือดออกกระจายทั่วกระเพาะ นอกจากนี้ ยังพบภาวะท้องผูกบริเวณลำไส้เล็กส่วนท้าย บ่งชี้ถึงสภาวะขาดสารน้ำ คาดว่าเกิดจากการไม่ได้กินอาหารมาระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งพบภาวะติดเชื้อเป็นหนองในมดลูก ม้ามมีลักษณะหดตัวเล็กน้อย บ่งชี้ถึงการเสียเลือด เกิดจากแผลจำนวนมากในร่างกาย โดยภาวะทั้งหมดทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดสารอาหาร และช็อกจากความ เจ็บปวด

    น.สพ. สนธยากล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยพบสัตว์หลายชนิดที่ต้องตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป โดยเฉพาะพวกเต่าทะเล พบมาก ปีหนึ่งๆ จะมีเต่าเกยตื้นตาย 20-30 ตัว ครึ่งหนึ่งตายหรือพิการ เพราะติดเศษอวนของชาวประมง แต่อีกครึ่งหนึ่งตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป เนื่องจากมันเข้าใจว่าเป็นพวกแมง กะพรุน ถ้าหากสัตวแพทย์พบเร็วก็อาจจะช่วยชีวิตไว้ได้ แต่หากนานโอกาสมีชีวิตเหลือน้อย ที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นโคม่าแล้ว เนื่องจากสัตว์จะไม่เข้ามาใกล้ชายฝั่ง หรือมนุษย์ จนกระทั่งไม่ไหวแล้วเท่านั้นจึงถูกคลื่นซัดเข้ามา หากสัตว์ทะเลหรือสัตว์ต่างๆ กินพลาสติกเข้าไปจะเจ็บปวดและทรมานมาก เพราะกระเพาะไม่สามารถย่อยได้ จะทำให้ปวดท้องรุนแรง กินอาหารอื่นไม่ได้ อ้วกออกมาหมด ทำให้หมดแรงและตายในที่สุด

    ส่วน น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (ภูเก็ต) กล่าวว่า หลังจากชันสูตรซากวาฬแล้ว ทางสถาบันจะนำซากกระดูกของวาฬตัวนี้มาจัดเป็นมุมให้ความรู้ อยู่ในบริเวณสถาบัน พร้อมทั้งประวัติ ความเป็นมา และสาเหตุของการตายทั้งหมด เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงพิษภัยของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ประชาชน เพื่อช่วยกันดูแลท้องทะเล ไม่ทิ้งขยะลงไปสร้างความสกปรกให้ท้องทะเล และยังทำให้สัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลอื่นๆ มีโอกาสตายจากการกินขยะเหล่านี้ด้วย

    นักวิชาการ กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังตั้งชื่อให้วาฬหัวทุยแคระเพศเมียตัวนี้ว่า ยะหยา หมายถึงชุดท้องถิ่นของสตรีชาวภูเก็ต เพื่อเป็นที่ระลึกว่า มันได้มาตายที่ชายหาดป่าตอง ภูเก็ต และยังเป็นบทเรียนให้แก่มนุษย์เห็นว่า สัตว์ทะเลแม้อยู่ในท้องทะเลลึกก็อาจจะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลงานของ มนุษย์ได้เช่นกัน อีกทั้งมันยังช่วยสร้างกระแสให้คนตื่นตัวในการให้ความสำคัญรักษาธรรมชาติ มากขึ้น หวังว่าเมื่อเอ่ยชื่อยะหยาก็จะทำให้ทุกคนตระหนักไม่ทิ้งขยะลงในท้องทะเล หรือช่วยกันเก็บขยะขึ้นจากทะเลมากขึ้นอีกด้วย

    พบ “วาฬบลูด้าน้อย” เกยตื้นตายคาหาดอ่าวไทย

    พบ ลูกวาฬบรูด้าเพศเมีย อายุ 1 ปี เกยตื้นเสียชีวิตบริเวณชายหาดทะเลอ่าวไทย เจ้าหน้าที่เร่งผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่หาได้ยาก เต็มที

    วันที่ 31 พ.ค.54 เมื่อเวลา 09.00 น.นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา รับแจ้งจากชาวบ้านพบซากลูกวาฬบรูด้าเกยตื้นและชีวิตบริเวณริมชายหาดทะเลอ่าว ไทย บ้านพังสาย ม.7 ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา

    หลังจากที่นำเจ้า หน้าที่ของศูนย์วิจัยฯ ไปตรวจสอบพบว่าเป็นวาฬบรูด้า เพศเมีย อายุ 1 ปี ความยาว 4.40 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กก. เจ้าหน้าที่จึงได้นำซากมาตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตที่ศูนย์วิจัยฯ เบื้องต้นพบว่าที่บริเวณครีบทั้ง 2 ข้าง และโคนหางมีบาดแผลคล้ายกับติดอวนชาวประมง โดยวาฬบลูชนิดนี้ค่อนข้างพบยากในทะเลอ่าวไทยตอนล่างส่วนมากจะอาศัยอยู่ บริเวณฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยคาดว่าก่อนเสียชีวิตพลัดหลงจากแม่และฝูงที่มาหากินในทะเลอ่าวไทยตอนล่าง และว่ายไปติดอวนก่อนที่จะถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยฝั่ง

    ด้าน นายสันติ นิลวัตน์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เผยว่า จากสถิติพบว่าในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาลูกวาฬบรูด้าตัวนี้เป็นวาฬตัวที่3 ที่เสียชีวิตในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยตอนล่าง

    อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าได้ทำการผ่าพิสูจน์ลูกวาฬบรูด้าตัวนี้เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับขอความร่วมมือไปยังประชาชนและนักท่องเที่ยวรวมทั้งชาวประมงช่วยกัน ดูแล เพราะเป็นวาฬหายากพันธุ์หนึ่งของโลกที่พบในทะเลอ่าวไทย

    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก สำรวจซากวาฬบรูด้า เพศเมีย ตัวที่ 2 ลอยติดเกาะแสมสารสัตหีบ

    เมื่อ วันที่ 21 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวาเอก อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ว่าพบซากวาฬขนาดใหญ่ในสภาพลอยขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังถูกแดดเผาไหม้เกรียม เกยติดโขดหินบริเวณหาดเตย ด้านทิศตะวันตก ของเกาะแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ห่างจากชายฝั่งประมาณ 800 เมตร จึงประสานไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่วิชาการร่วมเข้าตรวจสอบ

    เวลาต่อ มา นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ได้เดินทางมาผ่าพิสูจน์ พร้อมเปิดเผยว่า ซากวาฬที่พบเป็น วาฬบรูด้า เพศเมีย อายุประมาณ 15 ปี หรือวัยเจริญพันธ์ มีความยาวประมาณ 10 เมตร น้ำหนักประมาณ 2 ตัน และตายมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ คาดว่าน่าจะเป็นฝูงวาฬที่เข้ามาหากินในทะเลอ่าวไทย และตายไปก่อนหน้านี้ กระทั่งถูกพบซากของมันลอยขึ้นอืดในทะเลแถบดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม การผ่าพิสูจน์พบว่าหัวกะโหลกได้หลุดหายไป แต่เป็นที่น่าสังเกตที่ภายในกระเพาะอาหารของวาฬตัวนี้ไม่พบเศษอาหารตกค้าง หรือมีอาหารชนิดใด ๆ อยู่เลย คาดว่าจะป่วย โดยพฤติกรรมของวาฬแล้วหากล้มป่วยจะไม่กินอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น จนเสียชีวิตขณะพยายามว่ายน้ำพาตัวเองเข้าฝั่ง ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้น ของวาฬบรูด้าทั้งสองตัวที่พบ ต้องรอผลพิสูจน์อย่างเป็นทางการ จากการสันนิษฐานเบื้องต้น คาดว่า น่าจะเกิดจากภาพแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมลง ทั้งจากสภาวะน้ำเน่าเสีย สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งลงทะเล ล้วนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งสิ้น และน่าจะเป็นเหตุพลหลักที่ส่งผลให้วาฬบรูด้าเสียชีวิต

    สำหรับ วาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40 -70 ร่อง เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาวประมาณ 14 - 15 เมตร น้ำหนักมากสุด 20 - 25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา 250 - 370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน เคย ลูกปลา และปลาหมึก มีถิ่นอาศัยประจำอยู่ในอ่าวไทย และสามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบมากที่ทะเลด้านนอก แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบัน จากการสำรวจพบมีจำนวนน้อยลงถึงขึ้นใกล้สูญพันธ์

    นาวาเอก อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะหันมาช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขณะนี้สภาวะแวดล้อมในทะเลได้เสื่อมโทรมลงถึงขึ้นวิกฤติ ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น และจากการเสียชีวิตของวาฬบรูด้าทั้งสองตัวที่พบในทะเลอ่าวไทย อาจเป็นสิ่งบอกเหตุว่า ธรรมชาติกำลังย้อนกลับมาทำร้ายสิ่งมีชีวิตบนโลก เหมือนที่มนุษย์กำลังทำลายธรรมชาติให้หมดไป

    วาฬบรูด้าเกยตื้นตายคาอ่าวแม่กลอง

    เมื่อ วันที่ ( 18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวประมงชายฝั่งว่าพบวาฬขนาดใหญ่ตายลอยอืด ที่บริเวณปากอ่าวแม่กลอง ห่างชายฝั่งประมาณ 1,500 เมตร ใกล้ดอนหอยหลอดแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ในพื้นที่หมู่ 8 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงประสานมูลนิธิสว่างเบญจธรรมสมุทรสงครามนำเรือออกไปตรวจสอบพบวาฬขนาดใหญ่ สภาพขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังถูกแดดเผาไหม้เกรียม

    ต่อมา ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร ได้เดินทางมาดูวาฬ พร้อมกล่าวว่า วาฬที่พบเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ อายุประมาณ 1 ปี ยาวประมาณ 8 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน และตายมาแล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์ และคาดว่าน่าจะเป็นฝูงวาฬ 1 ใน 19 ตัว ที่เข้ามาหากินปลากะตักในอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม ไปจนถึงเพชรบุรี ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.พ. เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร จะผ่าพิสูจน์หาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง

    สำหรับวาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุด และใกล้จะสูญพันธ์แล้ว มีถิ่นอาศัยประจำอยู่ในอ่าวไทย และสามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบมากที่ทะเลบ่อนอกจ.ประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15 เมตร น้ำหนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา 250-370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน เคย ลูกปลา และปลาหมึก เป็นต้น.

    วาฬบรูด้าเกยตื้นตายคาอ่าวแม่กลอง

    เมื่อ วันที่ ( 18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวประมงชายฝั่งว่าพบวาฬขนาดใหญ่ตายลอยอืด ที่บริเวณปากอ่าวแม่กลอง ห่างชายฝั่งประมาณ 1,500 เมตร ใกล้ดอนหอยหลอดแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ในพื้นที่หมู่ 8 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงประสานมูลนิธิสว่างเบญจธรรมสมุทรสงครามนำเรือออกไปตรวจสอบพบวาฬขนาดใหญ่ สภาพขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังถูกแดดเผาไหม้เกรียม

    ต่อมา ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร ได้เดินทางมาดูวาฬ พร้อมกล่าวว่า วาฬที่พบเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ อายุประมาณ 1 ปี ยาวประมาณ 8 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน และตายมาแล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์ และคาดว่าน่าจะเป็นฝูงวาฬ 1 ใน 19 ตัว ที่เข้ามาหากินปลากะตักในอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม ไปจนถึงเพชรบุรี ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.พ. เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร จะผ่าพิสูจน์หาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง

    สำหรับวาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุด และใกล้จะสูญพันธ์แล้ว มีถิ่นอาศัยประจำอยู่ในอ่าวไทย และสามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบมากที่ทะเลบ่อนอกจ.ประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15 เมตร น้ำหนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา 250-370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน เคย ลูกปลา และปลาหมึก เป็นต้น.

    วาฬ ยักษ์ บรูด้า 4 ตัวว่ายเข้าใกล้ชายหาดบางแสน ดำผุดดำว่าย นางนวลเหิรลมเริงร่ารุมตอมปลาวาฬ สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามค้นหาหลงดำลงใต้ทะเล หวั่นวาฬโผล่เตือนความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ และภัยพิบัติ

    วันนี้ (21 กันยายน2551) ผู้ สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายเต่า ธรรมกิจจานุศร อายุ 50ปีชาวประมงท้องถิ่น แหลมแท่น บางแสน จ.ชลบุรี ที่ออกช้อนแมงกะพุนอยู่ในทะเล ห่างจากชายหาด บางแสนประมาณ 1.5 กิโลเมตรพบ ฝูงนกนางรมฝูงใหญ่ บินโฉบเฉี่ยวเริงร่าเป็น กลุ่มเป็นก้อน อยู่บริเวณแหล่งปะการังเทียม ศาลาอเนกประสงค์เฉลิมพระ เกียรติ บางแสน-แหลมแท่นตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ความแตกตื่น ของนกนางนวล บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในทะเล จึงได้จ้องจับตามอง และพยายาม พาเรือเข้าไปให้ใกล้ที่สุดบริเวณดังกล่าว

    ปรากฎว่าได้มีฝูงปลาตัว ขนาดใหญ่ ขึ้นหยอกล้อกันบนผิวน้ำ ได้จ้องจับ ตามองความเคลื่อนไหวชนิดตาไม่กระพริบ ใจจดใจจ่อว่าใต้ฝูงนกที่บินโฉบเฉี่ยว มันคืออะไรกันแน่

    นายเต่าเปิดเผยว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้พบตั้งแต่วัน ที่ 20 กันยายน เมื่อเห็นผิดสังเกตในทะเลจึงได้ประสานเพื่อนเรือประมงด้วยกันมาช่วยกันดูอีก ใจหนึ่งก็ไม่กล้าเพราะเห็นว่าเป็นสัตว์ใหญ่ในทะเล ขณะที่จ้องดูแบบใจจดใจจ่อ พากันเข้าไปดูใกล้ ๆ ต้องตกตะลึงมีปลาวาฬขนาดใหญ่ จำนวน 4 ตัวแต่ละตัวมี ความยาวประมาณตัวละ 8 เมตรโผล่หัวเหนือผิวน้ำ พ่นน้ำ ดำผุดดำว่ายอย่างมี ความสุข ซึ่งชาวประมงทั้งกลัว ทั้งกล้า ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบปลาวาฬยักษ์เข้าชายหาดบางแสนเลยสักครั้ง เดียว จะมีแต่เพียงปลาโลมาเท่านั้นที่พบกับบ่อย ๆ ทั้งชายหาดบางแสน และใกล้ เคียง น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่าอาจเกิดภัยพิบัติในทะเลอย่างแน่ นอน เพราะปลาใหญ่ยังเปลี่ยนวิถีชีวิตกันแล้ว อีกทั้งขณะนี้ธรรมชาติแปรปรวน อย่างมาก ทำให้ต้องระมัดระวังกันให้มากกว่าเดิม

    ต่อมาชาวประมงได้ แจ้งข่าวไปยังศูนย์วิจัยทางทะเลมหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน เพื่อให้รับทราบพร้อมกับมาตรวจสอบ แต่เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุด ราชการ เสาร์ อาทิตย์ จึงไม่มีผู้รู้มาทำงาน จากประวัติ ปลาวาฬชนิดนี้ ชื่อ ว่า ปลาวาฬบรูด้า เป็นปลาวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่าอาศัยอยู่ประจำถิ่นใน อ่าวไทยและมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ ต่างชาติหลายท่านพยายามศึกษาและตั้งชื่อปลาวาฬบรูด้า ในอ่าวไทยให้เป็นปลา วาฬชนิดใหม่ของโลก ปัจจุบันพบซากโครงกระดูกและสถิติทั่วประเทศรวม กว่า 100 แห่งล่าสุดพบเกยตื้นใกล้หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ วัน ที่ 22 พฤศจิกายน2540 ดูแลรักษาโดยดร. สุรพลสุดารา และนิสิตภาควิชาวิทยา ศาสตร์ทางทะเลรุ่น 31 (พ.ศ. 2540)

    ปลาวาฬบรูด้าเป็นปลาวาฬชนิดไม่มี ฟันแต่มีบาลีน ( Baleen) เป็น แผ่นกรองคล้ายหวีใช้กรองฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น ปลาทู ปลากะตัก เป็น ต้น ความยาวเฉลี่ยประมาณ 13 เมตรลำตัวสีเทาอมน้ำเงิน ด้านท้องสีขาวอม ชมพู พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ใน เขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล มักพบ ครั้งละ 1-2 ตัวออกลูกครั้งละ 1 ตัวระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 1 ปีลูกปลาวาฬ แรกเกิดมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร.วาฬบรูด้า( Bryde's whale) รูปร่างคล้าย ปลาวาฬฟินมากแต่จะต่างกันตรงที่ปลาวาฬบรูด้าจะมีสันบนหัว 3 สันแต่วาฬฟินมี เพียงสันเดียว ปลาวาฬบรูด้าโตเต็มที่ยาว14-15. 5 ม. หนัก30 ตันจัดเป็นปลา วาฬที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้

    การติด TAG วาฬบรูด้า ที่อ่าว ก ไก่

    "โน่นไง ขึ้นมาแทงปลาแล้ว!!!"

    น้ำเสียงตื่นเต้นของทีมสำรวจเมื่อพบยักษ์ใหญ่แห่งอ่าวไทยโผล่พ้นน้ำ อ้าปากกางกว้าง ค้างอยู่นานอึดใจใหญ่ ก่อนจะปิดโครม และจมตัวลง

    หากมองดูจากใต้น้ำ จะเห็นภาพวาฬร่างยักษ์ที่เพิ่งจะจมตัวลง ปล่อยให้น้ำไหลออกจากซี่กรอง คัดเอาแต่ 'เหยื่อ' อย่างปลากระตักไว้ กลืนลงท้อง

    ก่อนจะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจ และเริ่มต้นวงรอบฮุบเหยื่อใหม่อีกครั้ง

    นั่นคือพฤติกรรมการกินรูปแบบหนึ่งของ "วาฬบรูด้า" เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของวาฬตระกูลนี้โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนที่ทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี

    ความผูกพันของ 'วาฬ' กับ คนไทย โดยเฉพาะชาวประมง ถือว่าไม่ใช่แค่ รัก หากแต่ 'เคารพ' ยิ่ง บ้างก็เรียก 'ปลาปู่' บ้างก็ขาน 'ปลาเจ้า' ไม่ใช่แค่เพราะขนาดที่ใหญ่จนสร้างความยำเกรง หากแต่การพบเห็นแต่ละครั้ง ถือเป็นลางดีสำหรับชาวประมง เพราเป็นที่รู้กันว่า ถ้าวาฬมาเยือนเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงฝูงปลาทูที่ไม่เคยผิดนัด

    จากหลักฐานชิ้นสำคัญอย่าง โครงกระดูกวาฬบรูด้า ซึ่งเก็บอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ พ.ศ.2452 บวกกับโครงกระดูกวาฬบรูด้า และวาฬโอมูร่า (วาฬในวงศ์เดียวกันกับบรูด้า) ที่เก็บไว้ตามวัด หรือสถานศึกษาตลอดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอีกจำนวนไม่น้อย น่าจะเพียงพอที่จะสรุปว่า วาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมญาติสนิทที่ชิดเชื้อกับคนไทยเรามานานกว่าร้อยปี

    แต่ถึงแม้จะอยู่ร่วมกันมานานถึงเพียงนั้น ญาติสนิทอย่างเรากลับรู้จักวาฬบรูด้าเพียงน้อยนิด ไม่รู้แม้กระทั่งเส้นทางการหากิน ความเป็นอยู่ พฤติกรรมต่างๆ นำมาสู่ความมุ่งมั่นที่จะศึกษา ทำความรู้จักญาติตัวยักษ์เหล่านี้ให้มากขึ้น

    กระแสวาฬไทย

    หากนับถอยหลังไป 3 ปีก่อน กระแสท่องเที่ยวดูวาฬเป็นที่นิยมมากจากการพบพบฝูงวาฬบรูด้าจำนวน 14 ตัวที่อ่าวไทย บริเวณ จ.สมุทรสาคร ในปี 2553 ซึ่งในครั้งนั้นถือว่า 'มากที่สุด' แล้ว แต่ถัดมาเพียงปีเดียวกลับพบว่า จำนวนวาฬบรูด้าที่พบในอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยพบมากถึงวันละ 6-20 ตัว ซ้ำกันบ้าง ไม่ซ้ำกันบ้างในแต่ละวัน นับรวมได้ทั้งสิ้น 24 ตัว และหากนับรวมทั้งหมดที่ทีมสำรวจเริ่มทำการบันทึกเป็นภาพถ่าย Photo ID ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 35 ตัวที่ว่ายเวียนเข้ามาหากินในอ่าวตัว ก.

    ขณะที่ช่วง 'วาฬบุก' ซึ่งโดยปกติจะชุกที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไล่ไปจนถึงราวตุลาคมของทุกปีนั้น ในปี 2555 พิเศษยิ่งกว่าเรื่องของจำนวน เพราะพบว่า วาฬบรูด้าเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง โดยห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในปีเดียวกัน ราวต้นปี 2554 กลับพบวาฬบรูด้าตายลอยเข้ามาในบริเวณอ่าวไทยแยกขึ้นไปเกยหาดตามที่ต่างๆ ในเวลาไล่เลี่ยกันโดยไม่ทราบสาเหตุ

    เหล่านี้คือ ภารกิจที่แสนจะท้าทายของทีมสำรวจประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนที่ต้องหาคำตอบของปริศนาที่ยังแอบซ่อนอยู่ โดยเฉพาะภารกิจแรกดูเหมือนจะถูกเร่งเป็นพิเศษเพื่อให้ตอบรับกับการท่องเที่ยวดูวาฬซึ่งภาคราชการทั้งจากส่วนกลาง และท้องถิ่นอยากจะโปรโมทให้เป็นไฮไลต์ใหม่ของการ 'ท่องไทย'

    "ปีที่แล้วเจอวาฬน้อยมาก เจอแค่สองตัว คือเจ้าสามมุข กับ เจ้าสุขใจ อย่างเมื่อ 3 เดือนที่แล้วก็พานักท่องเที่ยวออกทะเล ก็ไม่เจอวาฬ

    เจอแต่โลมาอิรวดี" เอกชัย ศรีนวล ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว ที่แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เล่าแกมบ่น

    เพราะเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2553 แล้วถือว่าต่างกันลิบ เนื่องจากในปีนั้นพบวาฬครั้งละหลายตัว หากินกันเป็นกลุ่ม ทั้งยังเจอง่ายกว่าเมื่อปีที่แล้วอย่างชัดเจน และส่งผลให้การท่องเที่ยวดูวาฬเป็นที่นิยมขนาดมีเรือเป็นสิบลำลอยเคียงไปกับวาฬ

    "สปีดโบ๊ทวิ่งมาจากพัทยายังมีเลยนะครับ" เอกชัยเอ่ย และให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า จากการบูมในครั้งนั้น เลยส่งผลให้ที่แหลมผักเบี้ยในวันนี้มีผู้ประกอบการที่พร้อมพานักท่องเที่ยวไปดูวาฬรวมๆ แล้วเกือบร้อยลำ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่เดือดร้อนเท่าไรนักกับการที่ออกเรือแล้วไม่เจอวาฬสมใจ เพราะอาชีพหลักของเขาคือ นาเกลือ และนากุ้ง ส่วนการออกเรือดูวาฬนั้นไม่มีให้ทำก็ไม่เดือดร้อน แต่แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวที่เสียเงินข้ามน้ำข้ามทะเลไปย่อมหวังจะได้เจอ ทำให้เอกชัยเองก็หวังว่า อยากจะให้ทีมวิจัยสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญ นั่นก็คือ การรู้เส้นทางวาฬ เพื่อที่การออกเรือแต่ละครั้งไม่เสียเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียเงินฟรี

    ล่า 'ยิง' วาฬ

    แม้จะทำการสำรวจวาฬบรูด้ามานานถึง 10 ปีเศษ แต่ศูนย์วิจัยฯ เพิ่งจะสามารถทำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการบันทึกภาพถ่ายเพื่อระบุอัตลักษณ์ของวาฬ (Photo Identification, Photo-ID) ก็เมื่อปี 2551 หรือเมื่อ 5 ปีก่อนนี่เอง

    กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เจ้าของฉายา 'แม่หมูน้ำ' ตามความเชี่ยวชาญเรื่องปลาพะยูนที่เจ้าตัวทำมาเป็นสิบปี ก่อนจะย้ายมารับผิดชอบท้องที่อ่าวไทยตอนบน ซึ่งแม้ไม่มีพะยูน แต่สำหรับวาฬแล้ว เธอสู้ไม่แพ้กัน!

    ช่วงที่ย้ายมาเป็นช่วงที่มีวาฬเข้ามาเยอะมากเป็นพิเศษจนเกิดเป็นกระแสขึ้น จากเดิมทีมงานทำอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 แต่ช่วงที่สำรวจเมื่อก่อน จะเจอวาฬบรูด้าไม่มาก เห็นแค่ไม่กี่ตัวก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะเจออย่างมากสุดประมาณ 4 ตัวต่อครั้ง ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือก็ยังไม่ได้ดีเท่าปัจจุบัน ภาพถ่ายก็ซูมมากไม่ได้ ถึงถ่ายมาติดแต่ก็ไม่สามารถจำแนกได้อยู่ดี" กาญจนา เล่า

    ขณะที่วันนี้ ทุกครั้งที่ทีมล่าวาฬออกปฏิบัติการ อุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นกล้องส่องทางไกล, กล้องถ่ายรูปดิจิทัลขั้นเทพ พร้อมเลนส์ซูมขั้นพื้นฐานที่ห้ามลืมเด็ดขาด คือ 70-300 มม. พ่วงด้วยกล้องวีดิโอความละเอียดสูง เครื่อง GPS เพื่อระบุตำแหน่งที่พบ ทั้งหมดต้องถูกหอบหิ้วลงเรือไปโดยเจ้าหน้าที่ราว 5-6 คนต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง คนหนึ่งถือกล้องเลนส์มาตรฐานสำหรับภาพกว้าง อีกคนจัดเลนส์ข้ามหลามสำหรับซูมระยะไกล อีกหนึ่งบันทึกภาพเคลื่อนไหว อีกหนึ่งถือดาต้าชีทไว้คอยจดบันทึกพฤติกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การเลี้ยงลูก แม้กระทั่งวิธีการจีบกันก็ห้ามพลาด ส่วนอีกหนึ่งมีหน้าที่บันทึกหมาย(พิกัด)ที่เจอ และสุดท้ายหากคนเหลือต้องทำหน้าที่เป็นแมวมอง คอยช่วยสอดส่องอยู่นอกเลนส์

    ...นั่นคือ 'อย่างน้อย' ของการออกเรือสำรวจวาฬแต่ละครั้ง ที่ไม่มีใครบอกได้ว่า วันนั้นๆ จะเจอ หรือ วืด

    "บางทีก็ต้องไปจอดแวะถามเรือประมงน่ะครับ ว่าเห็นบ้างไหม เขาก็จะวิทยุถามเรือลำอื่นๆ ให้" สุระชัย ภาสดา หรือ 'ขาว' เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน กลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก ผู้ได้ชื่อว่า 'ตาไว' เป็นพิเศษเล่าให้ฟัง

    ในบางครั้ง ไม่ใช่แค่ไม่เจอ เพราะยังซวยถึงขั้นเรือเกือบแตกก็มี เพราะเกิดแล่นไปชนตอเข้าให้ กว่าจะรู้น้ำก็ซึมขึ้นมาถึงพื้นเรือแล้ว หรือบางครั้งก็เจอมรสุมหนักเสียจนต้องลอยคอหลบพายุอยู่นานกว่าจะกลับเข้าฝั่งได้ เรียกว่าอาการโคลงเคลงตามมาถึงเตียงเลยก็มี แต่ไม่ว่าจะวืดบ้าง เจอบ้าง พวกเขาก็ไม่ท้อ เพราะถ้าเมื่อไหร่ได้เจอ ถือว่า คุ้มค่า

    "เขาจะขึ้นกินเป็นชั่วโมงเลยละครับ เราก็นั่งดู สังเกตพฤติกรรมได้เยอะมาก" โดยส่วนตัวขาวแล้ว เขาชอบ 'เจ้าบันเทิง' มากเป็นพิเศษ เพราะความร่าเริง ขี้เล่น เพียงแค่การพบกันครั้งแรก ยังใจกล้าขนาดว่ายวนเรือถึงสามครั้งสามครา แถมยังอ้าปากโชว์ลายขอบปากให้เป็นหนึ่งอัตลักษณ์ส่วนตัวให้ดูอีกด้วย

    สบายๆ คือ (วาฬ)ไทยแท้

    นิสัยสนุกสนาน ขี้เล่น เป็นกันเอง เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยเป็นพิเศษจากการออกเรือสำรวจวาฬบรูด้าในประเทศไทย อย่าง เจ้าพาฝัน ก็เป็นหนึ่งในวาฬน้อยแสนซนที่ชอบว่ายเข้ามาวนเวียนใกล้ๆ เรือสำรวจ นิสัยเฉพาะตัวของวาฬแต่ละตัว เรียกว่า ชัดเจนมาก ถ้ายิ่งออกเรือบ่อยอย่างเจ้าหน้าที่ของศูนย์ บางครั้งเห็นปราดเดียวก็แยกออกแล้ว แต่เพราะนี่คืองานวิชาการ เรื่องของหลักการจึงจำเป็น โดยกาญจนา อธิบายถึงหลักการจำแนกว่า ต้องอาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิต่างๆ ตามลำตัวเพื่อจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้า

    "เราดูที่ครีบเป็นหลัก ว่ามีรอยเว้าแหว่งไหม เป็นรูปอะไร แต่ถ้าครีบหลังสมบูรณ์ ก็ต้องดูที่เพดานปาก ซี่กรอง และลายขอบปาก ว่ามีขีด จุดดำบ้างไหม" กาญจนา อธิบาย และเมื่อสามารถจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬตัวนั้นๆ ได้ชัดเจนแล้ว การตั้งชื่อ คือ ภารกิจ ต่อมา

    "ชื่อที่ตั้ง จะบอกน้องๆ เสมอ ว่าเราต้องให้เกียรติเขา คุณอย่าไปเอาลักษณะด้อยมาตั้งชื่อ ถ้าคุณเรียกชื่อลูกคุณว่า ไอ้แหว่งไอ้ค่อมได้ เราถึงจะอนุญาตให้ตั้งชื่อสัตว์พวกนี้แบบนี้ได้เหมือนกัน แล้วก็ไม่อยากให้เรียกว่า 'ไอ้' ด้วย เพราะบางทีชื่อนั้นอาจจะไปพ้องกับชื่อคนก็ได้ ถึงเราจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม"

    สำหรับคำเรียกนำหน้าวาฬเหล่านี้ กำหนดให้ใช้คำว่า 'เจ้า...' แทนวาฬตัวผู้ และวาฬเด็กๆ ที่ยังไม่รู้เพศ ส่วนวาฬที่ให้ลูกแล้วจะเรียกว่า 'แม่...'

    โดยการตั้งชื่อจะตั้งตามสถานที่ที่พบ เดือนหรือวันที่พบ ถ้าไม่ได้ ก็จะเน้นชื่อที่เพราะให้ความหมาย เช่น 'เจ้าเมษา' เจ้าของอัตลักษณ์ ครีบหลังมีรอยขาดนั้น ไม่ต้องเดาให้ยากก็รู้ว่า เจอกันครั้งแรกเดือนเมษายน ไม่ต่างกันกับ 'เจ้าสิงหา'

    เรื่องสถานที่ที่พบ ก็นำมาตั้งเป็นชื่อไม่น้อย อาทิ 'แม่สาคร' เจอที่สมุทรสาคร ส่วนลูกเจอที่ท่าจีน ก็เลยได้ชื่อ 'เจ้าท่าจีน' ไปตามระเบียบ ส่วนตัวน้องมีชื่อว่า 'เจ้าท่าฉลอม' คงไม่ต้องเดาว่าเพราะอะไร ส่วนตัวไหนซ่าหน่อยได้ชื่อ 'เจ้าบันเทิง' ไปอย่างไม่มีใครคัดค้าน ขณะที่ 'เจ้าจ๊ะเอ๋' ก็ได้ชื่อนี้มาเพราะชอบมาโผล่ปากงับๆ ออกแนวขี้เล่น

    "บางทีเจ้าของเรือก็ขอตั้งให้อย่าง 'เจ้าพัทธยา' คุณแดง (ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์) ขอเป็นคนตั้ง ไม่ใช่เพราะไปเจอที่พัทยา แต่อยากจะตั้งเป็นเกียรติให้กับพัทธยา เทศทอง ที่ไปคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันบอคเซีย ในพาราลิมปิกเกมส์ 2012 ส่วนท่านเกษมสันต์ จิณณวาโส อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ตั้งชื่อ 'เจ้าพาฝัน' ให้เป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะพาทีมงานทำได้ตามที่ฝัน นั่นก็คือการอนุรักษ์วาฬบรูด้าอย่างจริงจังในประเทศไทย" กาญจนาเล่า

    อย่างล่าสุด ที่เพิ่งเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของทีมวิจัย ก็คือโครงการศึกษาการอพยพเคลื่อนย้ายของวาฬบรูด้า โดยการติดเครื่องหมายส่งสัญญาณดาวเทียม (Satellite Tag) เพื่อให้ทราบเส้นทางการอพยพ และพื้นที่การแพร่กระจายที่ชัดเจน ซึ่งได้ทำไปแล้วแต่เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เป็น Suction Cup ไม่เหมาะสมกับวาฬบรูด้าซึ่งมีขนาดเล็กและว่องไว ทำให้หลุดออกไปหลังจากติดได้ไม่นาน จึงวางแผนจะเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นแทน

    เป้าหมายหนึ่งของภารกิจนี้ คือ การต่อจิ๊กซอว์ ค้นหาเส้นทางการอพยพของวาฬว่า เมื่อออกนอกน่านน้ำไทย วาฬเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน และจะกลับมาเมื่อไหร่ เมื่อกลับมาแล้วอาศัยหากินอยู่ที่ไหน แน่นอนว่า หากภารกิจนี้สำเร็จ การท่องเที่ยวดูวาฬจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ แต่จากสภาพเละเทะของการท่องเที่ยวดูวาฬที่แม้จะมีผู้ประกอบการหลายรายปฏิบัติตามกฎระเบียบการดูวาฬอย่างเคร่งครัดจริง แต่ก็มีหลายรายที่พยายามเอาใจนักท่องเที่ยว เอาเรือเข้าใกล้วาฬ ไล่ต้อนและไล่ตามวาฬ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมีระยะปลอดภัยที่ห้ามเรือเข้าใกล้วาฬโดยเด็ดขาด จนในบางครั้ง นักวิจัยหญิงแกร่งคนนี้ ก็คิดแอบคิดไม่ได้ว่า เรื่องบางเรื่องปล่อยไว้ให้ลี้ลับต่อไปก็คงจะดีไม่น้อย...ตรวจชีพจรวาฬไทย หลังกระแสท่องเที่ยวดูวาฬฮือฮา เรือนับสิบมะรุมมะตุ้มดูจนคนรักวาฬพากันเครียด วันนี้ญาติตัวยักษ์ของคนไทยเป็นอย่างไร ต้องติดตาม

    กทม.เมืองหลวงหนึ่งเดียวในโลก มีฝูงบรูด้า เร่งต่อยอดศึกษา-ท่องเที่ยว

    นักวิชาการประมงฯ เผยกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงหนึ่งเดียวในโลกที่มีฝูงบรูด้า เตือนผู้เช่าเรือชมดับเครื่องยนต์เมื่อถึงจุดดูและห้ามให้อาหาร นักวิชาการแนะเร่งต่อยอดศึกษาและท่องเที่ยว... อ่านข่าวต่อได้ที่ ไทยรัฐออนไลน์

    © 2011 - 2024 ThaiWhales All Rights Reserved.