แม่พาฝัน - Mae Phafan
-
ลักษณะเด่น : ครีบหลังทรงมาตรฐานโค้งเว้า ปลายแหลม / มีเส้นสีดำยาวที่เพดานปากด้านซ้าย 1 เส้น และเส้นสีดำสั้นที่เพดานปากด้านขวา 1 เส้น / มีรอยแผลเป็นที่ปลายปากด้านบนและที่ขากรรไกรด้านขวาล่างยับเยินชัดเจน / ปี 2560 ครีบหลังปรากฏรอยแหว่งเป็นติ่ง
-
ประวัติ : แม่พาฝันเป็นวาฬที่ ThaiWhales พบตั้งแต่ช่วงแรกๆของการสำรวจ ในขณะนั้นถือเป็นวาฬที่สมบูรณ์ สวยงาม ไม่มีร่องรอยตำหนิ แต่แม่พาฝันประสบอุบัติเหตุจนทำให้มีบาดแผลลึกและเป็นแผลเป็นยับเยินจนถึงปัจจุบัน ท่านเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและายฝั่ง) เป็นคนตั้งชื่อให้ แม่พาฝันมีลูกแล้ว 3 ตัวคือ เจ้าอิ่มเอม เจ้ายินดี และ เจ้าเปรมปรีดิ์
-
พบครั้งแรก : 18 พ.ค. 2554 (ThaiWhales) / 22 พ.ค. 2554 (ศวทบ.)
-
หมายเหตุ
โดยทั่วไปการระบุตัววาฬมีจุดสังเกตที่ครีบหลังเป็นสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่โผล่พ้นน้ำทุกครั้งที่หายใจ ส่วนตำหนิหรือร่องรอยบนตัวมีทั้งที่ถาวรและที่จางหายไปได้ ลักษณะครีบหลังทรงต่างๆ ที่กลุ่มวาฬไทยใช้สังเกตเพื่อจำแนกวาฬแต่ละตัว (เป็นการกำหนดกันเองในกลุ่มวาฬไทย ไม่สามารถอ้างอิงตามหลักวิชาการ)
1 ทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า เช่น แม่สาคร เจ้าสมุทร แม่ข้าวเหนียว
2 ทรงมาตรฐาน ได้สัดส่วน ปลายมน (ครีบหลังโค้ง เว้า ปลายมน) เช่น เจ้าสุขใจ เจ้าตึก เจ้าวันชัย
3 ทรงมาตรฐาน ได้สัดส่วน ปลายแหลม (ครีบหลังโค้ง เว้า ปลายแหลม) เช่น แม่วันดี แม่กันยา
4 ทรงยาวรูปคล้ายฝักดาบ ปลายมน (ศัพท์พี่จำรูญ และน้องตอง) เช่น แม่สมหวัง
5 ทรงยาวรูปคล้ายฝักดาบ ปลายแหลม (ศัพท์พี่จำรูญ และน้องตอง) เช่น แม่ทองดี
6 ทรงมาตรฐาน แต่ ปลาย แบนราบ ชี้ขึ้น หรือ หักลง เช่น แม่ตองอ่อน แม่วันสุข
* ข้อสังเกต ในวาฬตัวลูก อายุแรกเกิด - ประมาณ 1 ปี ครีบหลังมักจะเอนไปด้านใดด้านหนึ่ง และทรงครีบยังเปลี่ยนแปลงได้